ณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) กล่าวว่า เมื่อปี 2567 ที่ผ่านมา ธุรกิจร้านอาหารได้เจอความท้าทายจากหลายสถานการณ์ไม่ว่าจะเป็นความผันผวนของเศรษฐกิจโลก รวมไปถึงพฤติกรรมของกลุ่มผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งการแข่งขันที่ดุเดือดอย่างมากจากการเปิดตัวร้านอาหารแบรนด์ใหม่ ๆ ที่เพิ่มมากขึ้นมาในตลาด แต่ทางซีอาร์จีเองเราก็สามารถเติบโตได้ถึง 9% ปิดรายได้ทะลุ 15,800 ล้านบาท มีจำนวนสาขามากกว่า 1,300 สาขา ทั่วประเทศ และเปิดแบรนด์น้องใหม่ 2 แบรนด์ ได้แก่ NAMA Japanese and Seafood Buffet และ Katsu Midori Sushi พร้อมทั้งปรับโฉม Katsuya Flagship @ Central World เป็นต้น นอกจากนี้ยังเปิดแบรนด์ใหม่ 2 แบรนด์ NAMA Japanese and Seafood Buffet และ Katsu Midori Sushi
สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทยปี 2568 นี้ คาดการณ์ออกมาได้ 8 เทรนด์สำคัญ ได้แก่ 1. ภาพรวมตลาดธุรกิจร้านอาหารในปี 2568 จะเติบโตอยู่ที่ราว 5 - 7% มูลค่ารวม 572,000 ล้านบาท 2. แบรนด์ร้านอาหารหน้าใหม่ยังคงตบเท้าเข้าสู่ตลาดอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะอยู่รอดในตลาดหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งและการบริหารจัดการในระยะยาว 3. การวางแผนรับมือกับความท้าทายในอุตสาหกรรมอาหาร ที่ต้องแข่งขันกับแบรนด์เกิดใหม่ และแบรนด์จากต่างประเทศ 4. แนวโน้มความนิยมสินค้าหรือการบริการในระดับพรีเมี่ยมที่เพิ่มสูงขึ้น ลูกค้ายอมจ่ายแพงเพื่อแลกกับคุณภาพที่ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็น วัตถุดิบ หรือ แพคเกจจิ้ง 5. วงจรของแบรนด์สินค้าจะมีอายุที่สั้นลง เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เบื่อง่าย เปิดใจทดลองอาหารหรือการบริการใหม่อยู่ตลอดเวลา 6. แบรนด์ต้องปรับตัวให้เข้ากับทุกสถานการณ์ ทันกระแส และวางแผนการสื่อสารได้อย่างถูกต้องเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในทุกแพลตฟอร์ม 7. ทางรอดของแบรนด์คือการพัฒนาแบบไม่หยุดนิ่ง ปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา 8. ความท้าทายในเรื่องการบริหารจัดการค่าแรงพนักงาน ต้นทุนวัตถุดิบที่มีแนวโน้มขยับตัวสูงขึ้นกว่าปีก่อน
ผู้บริหาร กล่าวต่อว่า ส่วนแผนดำเนินธุรกิจในปีนี้ บริษัทได้เตรียมงบประมาณไว้ราว 1 พันล้านบาท ขับเคลื่อนองค์กรเติบโต ด้วย 4 กลยุทธ์หลัก เติบโต – ขับเคลื่อน – เสริมสร้าง – ยั่งยืนผลักดันการเติบโตตามเป้าหมายอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย
1. GROW : วางแผนต่อยอดธุรกิจ สร้างการเติบโตจากธุรกิจเดิมที่มีอยู่ พร้อมขยายสาขาในแบรนด์ที่มีกำไร อาทิ “เคเอฟซี” “มิสเตอร์ โดนัท” “อานตี้ แอนส์” “โอโตยะ” “คัตสึยะ” “ส้มตำนัว” “สลัดแฟคทอรี่” “ชินคันเซ็น ซูชิ” “นักล่าหมูกระทะ” และสร้างแบรนด์ดิ้ง ตลอดจนไม่หยุดนิ่งคิดค้นพัฒนาให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาสินค้าใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยทีม “Delicious lab” ซึ่งในปี 67 ที่ผ่านมาได้พัฒนาสินค้าใหม่ ออกจำหน่ายกว่า 500 เมนู คิดเป็นสัดส่วน 15% ของยอดขาย โดยบุคลากรในทีมมีความหลากหลาย ทั้งด้านประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญ ประกอบด้วย แม่ครัวที่ประสบการณ์มากกว่า 20 ปี และเด็กรุ่นใหม่ที่จบด้าน Food science และคหกรรม มีทักษะสูงในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ มี passion กับการกิน (Foodie) ซึ่งความแตกต่างในกลุ่มช่วงอายุ ทำให้เราสามารถพัฒนาสินค้าที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย โดยเน้นการพัฒนาสินค้าที่มีรสชาติอร่อย ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และกระแสการบริโภคใหม่ ๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ
2. DRIVE : ขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย ภายใต้ 3C Actions ได้แก่ Cost บริหารจัดการต้นทุน และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด Capex เน้นการลงทุนให้เกิดประโยชน์สูงสุด และ Cash Flow การบริหารกระแสเงินสด ตลอดจน การลงทุน ให้มีความคล่องตัวมากขึ้น พร้อมนำเทคโนโลยีมาใช้บริหารจัดการร้านอาหารมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและบริการ เช่น Self-ordering kiosk, Service robot, Tablet ordering
3. BUILD : เติมเต็มความแข็งแกร่ง ร่วมพัฒนาธุรกิจ และให้ความสำคัญในกลุ่ม JV Partner โดยตั้งเป้าขยายมากกว่า 25 สาขา พร้อมเฟ้นหาแบรนด์ที่มีศักยภาพในการเติบโต เพื่อเสริมความแกร่งให้พอร์ตโฟลิโอ ซึ่งตามแผนงานบริษัทฯ ตั้งเป้าเพิ่มอีก 2 - 3 แบรนด์ในปีนี้ ในกลุ่มชาบู และปิ้งย่าง ภายใต้ CRG Ecosystem ให้พันธมิตรร่วมกันเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน
4. SUSTAIN : ผลักดันความยั่งยืนทุกมิติ : หนึ่งในพันธกิจสำคัญด้านความยั่งยืนด้วย “CRG” STRATEGY
- CARE for People & Partner การดูแลบุคลากร และ พันธมิตรด้านธุรกิจ พร้อมเปิดกว้างรับความหลากหลาย สร้างความเท่าเทียม และสร้างสมดุลในการทำงานเพื่อให้พนักงานมีความสุข มีความผูกพันกับองค์กร ตลอดจนการสร้างประโยชน์ทางธุรกิจร่วมกับพันธมิตรอย่างมีธรรมาภิบาล
- REDUCE Greenhouse Gases ให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม ด้วยการประหยัดพลังงาน และการใช้พลังงานทดแทน โดยตั้งเป้าลดการใช้พลังงานลง 2% ซึ่งในปี 2567 ร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญ ขยายการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 3 แห่ง ไปยังสาขาของแบรนด์เคเอฟซี และ แบรนด์สลัดแฟคทอรี่ รวมปัจจุบันมีการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 16 แห่ง สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 963,512.59 กิโลวัตต์ชั่วโมง คิดเป็นร้อยละ 0.96 ของการใช้พลังงานทั้งหมด สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 481.66 tCO2e ถือได้ว่าเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการใช้พลังงานหมุนเวียน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างแนวทางการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับเป้าหมายด้าน ESG และสนับสนุนเป้าหมายด้าน Net Zero ขององค์กร
- GREEN Waste & Environment ลดปริมาณขยะอาหารที่เกิดจากการใช้วัตถุดิบในกระบวนการผลิตอาหาร ดำเนินงานต่อเนื่องในโครงการ CRG Food Waste : Journey to Zero ร่วมมือกับ เซ็นทรัลพัฒนาในโครงการ “ไม่เทรวม” และ CRG Surplus Food โครงการส่งมอบอาหารคุณภาพดีส่วนเกินจากการจำหน่าย ให้กับ มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (ประเทศไทย) หรือ เอสโอเอส ประเทศไทย และมูลนิธิ วีวี แชร์ เพื่อไปบริจาคให้กับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือด้านอาหาร ผู้ยากไร้ กลุ่มเปราะบาง โดยบริจาคโดนัทจากแบรนด์มิสเตอร์ โดนัท
พร้อมกันนี้ ปีนี้เรายังได้นำกลยุทธ์ Delicious Lab ทีมนักพัฒนาสร้างสรรค์ความอร่อยที่เหนือกว่า รังสรรค์เมนูที่ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ ด้วยวัตถุดิบคุณภาพ และรสชาติที่ถูกใจคนยุคใหม่ เพื่อนำธุรกิจเชนร้านอาหารของซีอาร์จี ในปีแห่งความท้าทายขับเคลื่อนแบรนด์ 21 แบรนด์ พร้อมแบรนด์ใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาเสริมทัพ รวมความยิ่งใหญ่กับสาขากว่า 1,300 แห่งทั่วประเทศ โดยคาดว่าปีนี้รายได้จะเติบโตเพิ่ม 13% พร้อมเปิดสาขาใหม่กว่า 120 - 140 สาขา และจะเปิดตัวแบรนด์ใหม่เสริมทัพ เปิดโอกาสพาร์ตเนอร์จับมือสร้างความมั่นคั่งไปพร้อมกัน ตั้งเป้าโกยยอด 17,900 ล้านบาท
ด้าน กณพ ศรีอาวุธ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่าย Food Innovation บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด ในฐานะผู้นำทีม Delicious Lab ด้วยคอนเซ็ปต์ “Where Innovation Meets Taste” หรือ “ผสานนวัตกรรม สู่รสชาติที่เหนือกว่า” กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันผู้บริโภคได้รับอิทธิพลจากสื่อโซเชียล โดยทีมทำหน้าที่ในการพัฒนาสินค้าจากการสำรวจตลาด ศึกษาลูกค้า วิเคราะห์ข้อมูล โดยทำงานร่วมกับฝ่ายการตลาด จนไปถึง Partner และ Supplier จนกว่าจะเป็นสินค้าใหม่ออกมา ซึ่งจะโฟกัสกลยุทธ์ใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1. Quality = Delicious จากปีที่ผ่านมาเราสร้างการเติบโตด้วยวิธีการรับประทานใหม่ ๆ เช่นการรับประทาน Tonkatsu Nabe ทั้งแบบ Sukiyaki, Cheese sauce โดยปีนี้ จะชูจุดแข็งของคุณภาพวัตถุดิบ ซึ่งลูกค้าหลาย ๆ ท่านยังไม่ทราบว่าร้าน Katsuya และ Ootoya เราใช้หมูสด ไม่แช่แข็ง เกล็ดขนมปังชั้นดี ซอสที่คัดสรร และปรุงจากวัตถุดิบคุณภาพดี ทั้งนี้ เราจะยังพัฒนาคุณภาพต่อในส่วนของกลุ่ม Bakery cuisine ทั้งความนุ่ม ความสดใหม่ของการผลิต 2. Premium Affordable การที่แบรนด์ของเราเข้าถึงลูกค้าในวงกว้าง การนำเสนอสินค้าใหม่ ๆ ที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกถึงความคุ้มค่า การใช้วัตถุดิบพรีเมี่ยม หรือนำเข้า โดยเป็นรสชาติ และ Taste profile ที่ลูกค้ารับรู้อยู่แล้วว่าเป็นของดี ของแพง แต่ราคาเข้าถึงได้ง่าย เช่น อานตี้ แอนส์ ทั้งนี้ เราประสบความสำเร็จทุก ๆ ครั้ง ที่ออกโปรโมชั่นเกี่ยวกับทรัฟเฟิล แฮมชีส หรือล่าสุดการเติมไข่กุ้ง (เอบิโกะ) ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทั้งนี้เรายังใช้กลยุทธ์นี้ในแบรนด์อื่น ๆ 3. Innovation คือการตอกย้ำการเป็นผู้นำในด้านนวัตกรรม แป้งโดนัทชนิดใหม่ ๆ เช่นในปีที่ผ่านมา เราประสบความสำเร็จอย่างมากจากโดนัท ไวท์พอนเดอริง และแป้งข้าวญี่ปุ่นคุมาโมโต้ ซึ่งนำเสนอเนื้อสัมผัสนุ่มหนึบที่คนไทยชื่นชอบ ในปีนี้เรายังต่อยอดจากความสำเร็จด้วย โดนัท ไวท์ พอนเดอริง สตรอเบอรี่ ที่มีไอเดียจากความนิยมในการทานสตรอเบอรี่คู่กับนมข้นหวานของชาวญี่ปุ่น แต่เรามาปรับการนำเสนอเป็น โดนัท ไวท์ พอนเดอริง ที่มีสีชมพูสดใสของรสชาติสตรอเบอรี่