นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังการตรวจราชการหอควบคุมการบินนครพนม เตรียมรับ ครม.สัญจร มอบนโยบายให้วิทยุการบินฯ พร้อมรับเที่ยวบินโต จากการผลักดันให้ จ.นครพนม หนึ่งในกลุ่มจังหวัดสนุก (สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร)จากแหล่งท่องเที่ยวเมืองรองสู่เมืองหลัก พร้อมส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งเพื่อกระตุ้นท่องเที่ยวอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
นางมนพรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ได้มอบหมายวิทยุการบินฯเตรียมพร้อมด้านระบบ อุปกรณ์ และบุคลากร เพื่อรองรับเที่ยวบินที่จะเพิ่มขึ้น พร้อมขอบคุณวิทยุการบินฯ ที่ใช้ความรู้ความสามารถของบุคลากร มาทำประโยชน์ให้กับประเทศ ในโครงการโดรนเกษตรปลอดภัย “นครพนมโมเดล” ในพื้นที่แปลงเกษตรสาธิตผลิตข้าวเหนียวพันธุ์ กข22 บ้านพนอม อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม พื้นที่ต้นแบบส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตร ทั้งการใช้ห้วงอากาศอย่างปลอดภัย และการบินโดรนถูกต้องตามระเบียบ โดยผลสรุปเป็นไปตามเป้าหมายเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน ซึ่งภายหลังมีการนำโดรนเข้าใช้งานหว่านปุ๋ย ฉีดพ่นยาฆ่าแมลง และการใช้นวัตกรรมเครื่องหยอดข้าวของวิทยุการบินฯ ในการเพาะปลูก ส่งผลให้สามารถลดต้นทุนในด้านของปริมาณการใช้เมล็ดพันธ์ข้าวลง 52% ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยลง 25% และยังช่วยลดต้นทุนด้านแรงงานเกษตรได้ถึง 41% โดยผลผลิตที่ได้จากแปลงสาธิตพื้นที่ 22 ไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ยที่ 1,100 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้นกว่าการเพาะปลูกแบบเดิม 250กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อหักต้นทุนค่าใช้จ่าย สามารถทำรายได้ให้เกษตรกรเฉลี่ย 5,254 บาท ต่อไร่ คิดเป็นรายได้มากกว่าการทำนาแบบดั้งเดิม 2,509 บาทต่อไร่ ทั้งนี้จะมีการประสานกับกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อวางแผนขยายผลไปยังพื้นที่เกษตรกรรมอื่น ๆ ทั่วประเทศ สนับสนุนนโยบาย 1 ตำบล 1 ดิจิทัล(ชุมชนโดรนใจ) ของรัฐบาล ที่มุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีทำการเกษตร ปรับเปลี่ยนวิถีเกษตรแบบเดิมให้เป็นการเกษตรแม่นยำสูง ลดการใช้แรงงาน ลดต้นทุน ลดการสัมผัสยาฆ่าแมลง เสริมสร้างรายได้ให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สร้างความยั่งยืนในชุมชนตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม”
นายสุรชัย หนูพรหม รักษาการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บวท. กล่าวเพิ่มเติมว่า “วิทยุการบินฯ ดำเนินการตามนโยบายกระทรวงคมนาคมและนโยบายด้านความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ซึ่งจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของการใช้งานโดรนเกษตร เพิ่มขึ้นกว่า 20% ต่อปี ปัจจุบันมีการบินโดรนเกษตรกว่า 200,000 เครื่อง ทั้งในพื้นที่เกษตร พืชนา พืชสวน พืชไร่ ซึ่งอาจสร้างผลกระทบต่อความปลอดภัยทางการบิน กรณีบินใกล้พื้นที่เขตปลอดภัยการบิน จึงได้ดำเนินโครงการ “โดรนเกษตรปลอดภัย” เพื่อส่งเสริมการใช้งานโดรนเพื่อการเกษตรอย่างถูกวิธี และถูกต้องตามกฎระเบียบ โดยผลการงานสำเร็จอย่างดี เพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย สามารถสร้างความเข้าใจและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ขานรับนโยบายรัฐบาล ในการใช้โดรนที่มีขนาดเกินกว่า 25กิโลกรัม ทำการเกษตรประณีต ให้มีการใช้ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช น้อยลง และมีผลผลิตที่สูงขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านเกษตรอัจฉริยะในภูมิภาค สร้างผลลัพธ์ที่ยั่งยืนและประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกร”
“ด้านการให้บริการจราจรทางอากาศ ปัจจุบันท่าอากาศยานนครพนมมี 8 เที่ยวบิน/วัน และในเดือนมิถุนายน 2568 จะเพิ่มขึ้นเป็น 12 เที่ยวบิน/วัน ซึ่งวิทยุการบินฯ ได้เตรียมความพร้อมเพื่อขยายขีดความสามารถให้รองรับการเพิ่มขึ้นของเที่ยวบินในอนาคต พร้อมทั้ง เตรียมเปลี่ยนทดแทนระบบอุปกรณ์เครื่องช่วยการเดินอากาศ ให้ทันสมัยและไปตามมาตรฐาน รวมทั้งมีแผนปรับเส้นทางบิน เพื่อให้สามารถใช้ห้วงอากาศร่วมกันของอากาศยานทางทหารและพลเรือนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น