"สุรพงษ์" เปิดโครงการขนส่งสัญจรสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ จังหวัดสกลนคร พร้อมลงพื้นที่ตรวจศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม มุ่งพัฒนาระบบคมนาคม เชื่อมโยงถนน - รางอย่างไร้รอยต่อ ผลักดันนครพนมเป็นศูนย์กลางการขนส่งภาคอีสานตอนบน
วันนี้ (28 เมษายน 2568) นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “ขนส่งสัญจรสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ใช้รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ จังหวัดสกลนคร ประจำปีงบประมาณ 2568” พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการด้านความปลอดภัยและการประชาสัมพันธ์การประมูลทะเบียนรถเลขสวย หมวดอักษร "กย" จังหวัดสกลนคร และมอบหมวกนิรภัยให้กับตัวแทนผู้ผ่านการอบรม ที่ได้รับใบอนุญาตขับขี่แล้ว ณ หอประชุมวิโรจอิ่มพิทักษ์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชิณวัตร และกระทรวงคมนาคม ได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อยกระดับความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนให้กับประชาชน โดยกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้จัดสรรเงินกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) สำหรับดำเนินโครงการด้านความปลอดภัยทางถนนระดับจังหวัดในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและลดอัตราการเสียชีวิตจากการใช้รถใช้ถนน สำหรับโครงการในวันนี้จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สำนักงานขนส่งจังหวัดสกลนคร ขบ. และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร จัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้รถใช้ถนนใช้ถนนอย่างปลอดภัย โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวนทั้งสิ้น 300 คน ประกอบด้วย กลุ่มเยาวชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ใช้รถยนต์และจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะในการเดินทาง ผู้เข้าร่วมการอบรมจะได้รับความรู้ ความเข้าใจในการใช้ถนนอย่างถูกต้องและปลอดภัย มีความรู้เรื่องกฎจราจร วิธีป้องกันอุบัติเหตุ มารยาทในการขับรถ รวมถึงการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน การให้ความช่วยเหลือและการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ส่งเสริมให้สวมหมวกนิรภัยขับขี่รถจักรยานยนต์ทุกครั้ง ได้รับใบอนุญาตขับรถอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อีกทั้งเป็นการปลูกจิตสำนึกและตระหนักถึงความปลอดภัยให้ผู้เข้าร่วมการอบรมสามารถนำความรู้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันให้มากยิ่งขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุในอนาคตให้กับตนเอง ขยายผลไปถึงครอบครัว และบุคคลใกล้ชิด ต่อไป
จากนั้น นายสุรพงษ์ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมความคืบหน้าโครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม โดยได้ลงพื้นที่ก่อสร้าง 2 จุด ได้แก่ พื้นที่เชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ (Seamless logistics) กับระบบราง และพื้นที่ตรวจปล่อยสินค้าร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ (CCA) พร้อมรับฟังรายงานสรุปการดำเนินงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดยนายสุรพงษ์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจความคืบหน้าโครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนมครั้งนี้ พบว่า การดำเนินงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามแผนงานที่กำหนดไว้ มีการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ในการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทางถนนกับระบบรางเข้าด้วยกันเป็นอย่างดี โครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 ของกระทรวงคมนาคม ซึ่ง ขบ. ได้ดำเนินโครงการในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership: PPP) ถือเป็นหนึ่งในโครงการนำร่องพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า (Truck Terminal) ในส่วนภูมิภาค เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าทางถนนระหว่างประเทศบนเส้นทาง สาย R12 เชื่อมต่อการขนส่งระหว่างไทย - สปป.ลาว - เวียดนาม - จีนตอนใต้ (นครหนานหนิง) และรองรับการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งกับระบบราง (Modal Shift) ผ่านแนวการพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่ - นครพนม ของ รฟท. นอกจากนี้ ภายในโครงการยังมีพื้นที่รองรับการปฏิบัติงานของหน่วยงานตรวจปล่อยสินค้า (Customs, Immigrations and Quarantines: CIQ) ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นศูนย์ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) เพื่อดำเนินพิธีการเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกได้อย่างครบวงจรในจุดเดียว
สำหรับภาพรวมการก่อสร้างล่าสุดมีความคืบหน้าแล้วกว่าร้อยละ 95 ปัจจุบัน ขบ. อยู่ระหว่างก่อสร้างส่วนที่ภาครัฐรับผิดชอบ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานส่วนกลางและอาคารที่ภาครัฐใช้ประโยชน์ คาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนมิถุนายน 2568 ในส่วนของบริษัทผู้ร่วมลงทุนได้ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างงานในระยะที่ 1 ซึ่งเป็นส่วนอาคารที่ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์แล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย ได้แก่ อาคารคลังสินค้า และอาคารรวบรวมและกระจายสินค้า ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการติดตั้งเครื่องมือและระบบสำหรับการบริหารจัดการ โดยตามเงื่อนไขของสัญญาร่วมลงทุน ผู้ร่วมลงทุนจะต้องรับผิดชอบในการบริหารจัดการและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance: O&M) รวมทั้งเป็นผู้รับความเสี่ยงทางด้านรายได้ และมีหน้าที่จ่ายค่าสัมปทานให้แก่ภาครัฐ ตามรูปแบบการร่วมลงทุนแบบ PPP Net Cost ตลอดระยะเวลา 30 ปี (2568 - 2597) นับจากปีเปิดให้บริการ ทั้งนี้ หากโครงการแล้วเสร็จจะช่วยอำนวยความสะดวก เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และลดต้นทุนโลจิสติกส์ให้กับผู้ประกอบการขนส่งและในภาพรวมด้านเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งยังช่วยผลักดันให้จังหวัดนครพนมก้าวเป็น “ศูนย์กลางทางด้านการขนส่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน” รวมทั้งช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนและสร้างรายได้ให้กับประชาชนในจังหวัดนครพนมและจังหวัดข้างเคียงในอนาคตต่อไป
นอกจากนี้ นายสุรพงษ์ ได้มอบนโยบายและข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
1. ให้ ขบ. จัดทำสรุปปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่าง ๆ ภายในประเทศ และปัญหาที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงด้านการขนส่งระหว่างประเทศ เพื่อนำเสนอต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณานำเข้าสู่การหารือระหว่างกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการในระดับนโยบาย
2. ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการดำเนินโครงการต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จพร้อมกัน เพื่อให้สามารถใช้งานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในโอกาสนี้ นายมนตรี ตั้งเจริญถาวร ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นางสาวณภัทรา กมลรักษา ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นางสาวรัชนีพร ธิติทรัพย์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก นายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง พร้อมด้วยผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และผู้ประกอบการขนส่ง ร่วมลงพื้นที่ด้วย