กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) หน่วยงานราชการ ที่มีหน้าที่กำกับดูแลรถโดยสารสารธารณะทั่วประเทศ จึงได้ดำเนินโครงการตรวจเข้มข้นรถโดยสารสาธารณะ (Check Point) ด้วยการตั้งจัดจุดตรวจรถโดยสารสาธารณะ ตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะและพนักงานขับรถ ตามรายการตรวจความพร้อมของรถ และตามรายการตรวจความพร้อมของพนักงานขับรถ เพื่อทำให้ประชาชนที่เดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะเกิดความปลอดภัย และเป็นไปตามนโยบายกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการยกระดับความปลอดภัยในการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุทางถนนอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งในอีกไม่กี่วันข้างหน้าก็จะมีช่วงวันหยุด ระหว่างวันที่ 26 – 28 กรกฎาคม 2568 คาดว่าจะมีประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวจำนวนมาก
โดย กรมการขนส่งทางบก ได้ดำเนินการโครงการตรวจเข้มข้นรถโดยสารสาธารณะ ตั้งจุดตรวจรถโดยสารสาธารณะ (Check Point) ตลอด 24 ชั่วโมง และช่วงเทศกาลจะมีการดำเนินการเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการตรวจความพร้อมของพนักงานขับรถ เช่น การใช้ความเร็ว และชั่วโมงการทำงาน เพื่อทำให้การเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะปลอดภัย
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ระบุว่า โครงการตรวจเข้มข้นรถโดยสารสาธารณะ Check Point ดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 ถึงปัจจุบัน เดือนกรกฎาคม 2568) ระยะเวลากว่า 6 ปีแล้ว มีการจัดจุดตรวจรถโดยสารสาธารณะ (Check Point) เพื่อตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะและพนักงานขับรถ โดยมีเจ้าหน้าที่จากกรมการขนส่งทางบก เป็นผู้ตรวจสอบรถโดยสารสาธารณะ ที่วิ่งผ่านจุดตรวจรถโดยสารสาธารณะ (Check Point) ตลอด 24 ชั่วโมง ตามรายการตรวจความพร้อมของรถ ได้แก่ ล้อรถ กระจก ค้อนทุบกระจก ถังดับเพลิง ระบบไฟฟ้า การเชื่อมต่อระบบ GPS อุปกรณ์ส่วนควบต่าง ๆ การชำระภาษีประจำปี เป็นต้น
รวมทั้งตรวจสอบตามรายการตรวจความพร้อมของพนักงานขับรถ ได้แก่ ใบอนุญาตขับรถ การรูดบัตรแสดงตัวตน การใช้ความเร็ว ชั่วโมงการทำงานระดับแอลกอฮอล์ในลมหายใจ และพฤติกรรมอื่น ๆ ที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งผลการตรวจสอบประจำวันจะมีการบันทึกผ่านระบบ Smart Checklist ปัจจุบันกรมการขนส่งทางบก ได้ตั้งจุดตรวจรถโดยสารสาธารณะ (Check Point) จำนวน 28 แห่ง ใน 26 จังหวัด ทั่วประเทศ ประกอบด้วย จุดที่ตั้งอยู่ภายนอกสถานีขนส่งผู้โดยสาร จำนวน 21 แห่ง และภายในสถานีอีก 7 แห่ง
“ย้ำว่า โครงการ Check Point นี้ ถือเป็นการตรวจความพร้อมตลอดเส้นทางการเดินทางของรถสาธารณะ โดยเฉพาะความพร้อมของคนขับรถ ที่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยอย่างเข้มงวด นอกจากความพร้อมของตัวรถ ที่นำออกมาวิ่งให้บริการ”
นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดในการเดินทาง กรมการขนส่งทางบก ได้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย ตรวจสอบความเร็วสถานการณ์เดินทางของรถโดยสารทุกคันผ่านศูนย์บริหารจัดการเดินรถระบบ GPS ของกรมการขนส่งทางบก ทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นระบบควบคุมการขับขี่ยานพาหนะ หรือระบบติดตามรถโดยจีพีเอส แบบ Online (GPS Tracking Realtime) รวมถึงจัดชุดผู้ตรวจการและเพิ่มความถี่ในการออกตรวจจับความเร็วของรถโดยสารในเส้นทางสายหลักทั้งขาเข้า - ออก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม โครงการตรวจเข้มข้นรถโดยสารสาธารณะ Check Point ที่มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้รถโดยสารและพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะ มีการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และทำให้การเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น สร้างความอุ่นใจให้กับผู้โดยสารตลอดการเดินทาง และถึงจุดหมายปลายทางอย่างปลอดภัย ขณะเดียวกัน ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของรถ สามารถใช้ระบบ GPS Tracking นี้ ในการติดตามการปฏิบัติหน้าที่ ของพนักงานของตนว่า มีการปฏิบัติตามกฎหมาย และคู่มือปลอดภัย การวิ่งอยู่ในเส้นทางที่ให้บริการอย่างเคร่งครัดอีกด้วย
ซึ่งทั้ง 2 โครงการสำคัญนี้ Check Point และ ระบบติดตามรถโดยจีพีเอส แบบ Online (GPS Tracking Realtime) ถือเป็นหัวใจสำคัญ ที่ทำให้สถิติอุบัติเหตุของรถโดยสารสาธารณะ ลดลงต่ำมากที่สุด หรือตามเป้าหมาย คือ เป็นศูนย์ ในทุกเทศกาล