ดนตรีลูกทุ่งไปถึงไหนแล้ว

วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556

ดนตรีลูกทุ่งไปถึงไหนแล้ว


ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา วงการดนตรีลูกทุ่งพัฒนาตัวเอง มาไกลมาก หลายคนอาจเป็นนักวิจารณ์เพลงลูกทุ่งอาจจะมีประเด็นวิตกกังวลเกี่ยวกับ "เนื้อหาสาระ" ที่เปลี่ยนไปในทางที่หมิ่นเหม่ศีลธรรม ซึ่งก็ต้องยอมรับครับว่า มันมีเพลงลูกทุ่งประเภทสองแง่สามง่าม ผุดขึ้นมารับใช้ราคาอารมณ์ของสังคม กลุ่มหนึ่ง แต่ในแง่การรับรู้ผมว่า ไม่ใช่ประเด็นที่น่าห่วง เพราะ เพลงประเภทสองแง่สามง่ามเอาเข้าจริงๆ มันก็ไม่ได้ไปทำลาย ศีลธรรมจนคนฟังกระเจิดกระเจิงไปตามบทเพลง คือมันมีมาทุกยุคทุกสมัย ยิ่งเป็นพวกเพลงพื้นบ้าน โห...ว่ากันสุดใต้สะดือ เพลงซะล้อซอซึงของแท้ ถ้าไปฟังตามงานบวช งานแต่งงานพื้นบ้านภาคเหนือ ใครศีลธรรมจัดนี่สะดุ้งเหย็งเอาง่ายๆ นะครับ และยิ่งหมอลำพื้นบ้านอีสานก็เหมือนกัน เนื้อหาสะดือหลุดกัน ไปเลย แต่ส่วนใหญ่มองในอารมณ์ครื้นเครง บันเทิงเริงใจ ยาม เมื่อยขบกลับจากไร่นา ธรรมชาติมนุษย์ไม่มีเรื่องไหน สนุกฮา กว่าเรื่องแนวนี้อีกแล้ว...
มีเพลงลูกทุ่งในอดีตที่สมัยเผด็จการปกครองประเทศ ถูกแบนไปหลายเพลง ผมจำได้เพลง "แว่นวิเศษ" ของ สุชาติ เทียนทอง ถูกรัฐบาลจอมพลถนอมสั่งแบน เพลง "จุดเทียน เวียนวน" ของดาวยั่วสะโพกระเบิด มาณี มณีวรรณ เอามา ขับร้องชวนสยิว...และยังมีพวกเพลงการเมืองที่แสลงใจพวกเผด็จการอีกหลายเพลงโดนแบน
มาถึงยุคคอมพิวเตอร์คาราโอเกะบุกถึงห้องนอน... เครื่องไม้เครื่องมือเทคโนโลยีก้าวไกล เพลงลูกทุ่งก็หมุนตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงดำรงอยู่ของเพลงลูกทุ่งคือ สะท้อนภาพชีวิต ของชนชั้นล่างอย่างแนบแน่น และก็น่าดีใจที่เรามีนักเขียนเพลง ที่ติดตามความเคลื่อนไหวของชนชั้นรากหญ้าในยุคไอโฟน แล้ว แปรเปลี่ยนออกมาเป็นบทเพลงอย่างสอดคล้องกับยุคสมัย ครูสลา คือตัวอย่างนักแต่งเพลง และที่มาแรงในช่วง 3-4 ปี อีกคนคือ วสุ ห้าวหาญ ที่เขียนเพลงดังๆ ให้ ตั๊กแตน-ชลดา ว่ากันว่า ถ้าต่าย-อรทัย ไม่มีครูสลาแต่งเพลงให้ อาจจะไม่เปรี้ยงปร้างขนาดนี้
สิ่งที่ผมเห็นชัดเจนในการพัฒนาของเพลงลูกทุ่งในช่วงที่ผ่านมาคือ การได้รับอิทธิพลเพลงสตริง เพลงร็อก จากค่ายเพลงใหญ่ ตลอดจนอิทธิพลของมิวสิกวิดีโอจากช่องเคเบิลฝรั่ง ที่ฉายกันทั้งวันทั้งคืน..นั่นคือ การประสานเสียง...ช่วงปีใหม่ผมมีโอกาสกลับบ้านที่อุบลฯ ได้ฟังเพลงชุดใหม่ๆ ของศิลปิน ลูกทุ่งหลายคน เช่น ไผ่-พงศธร ไหมไทย ใจตะวัน ปอยฝ้าย มาลัยพร และอีกหลายคน ท่อนฮุคกีตาร์หรือท่อนริฟฟ์แบบเพลงเฮฟวี่ฝรั่งเข้ามามีบทบาทเยอะมาก แม้จะมีกลิ่นแบบคาร์ลอส ซานตาน่า หรือท่วงทำนองเพลงดิสโก้ยุค 80 แต่ก็ถือว่าทันสมัย ปรับสไตล์ให้เข้ากับยุคคอมพิวเตอร์
ที่สำคัญคือ การให้ความสำคัญกับการประสานเสียง นี่เป็นนิมิตหมายใหม่ในการพัฒนาเพลงลูกทุ่งเลยทีเดียว การประสานเสียงคือการแสดงความสามารถในการเรียบเรียงดนตรี คำว่าเรียบเรียงเสียงประสานที่เคยใช้กันมา ผมว่าเราใช้ไม่ถูก เพราะเรียบเรียงเสียงประสาน คือการเรียบเรียง "เสียงร้องประสาน" ต่างหาก
ในอนาคตเราอาจได้ฟังเพลงลูกทุ่งในระดับที่ฝรั่งเรียกแนวดนตรีของพวกเขาว่า Country Rock คือการผสมผสาน ของร็อก กีตาร์อะคูสติก เครื่องดนตรีพื้นเมือง และการใส่ท่อน โซโลกีตาร์ที่ติดหู ผมคิดว่ากำลังพบงานเพลงแนวนี้ในงานเพลง ของศิลปินที่มีแนวคิดในการทำดนตรีค่อนข้างก้าวหน้าอย่าง พี สะเดิด หลายอัลบั้มของเขา ตั้งใจฟังลึกๆ ไม่ธรรมดา เคยคุยกับเขาบอกว่า พวกเพลงฝรั่งที่พี่ๆ แนะนำให้ฟังอย่าง ซาน-ตาน่า, ดีพ เพอร์เพิล, ดิ อีเกิ้ลส์ ช่วยได้มากในการสร้างสรรค์ จินตนาการ และสิ่งหนึ่งที่ พี สะเดิด มีก็คือ การเขียนเนื้อร้อง ที่เข้าถึงหัวจิตหัวใจคนรากหญ้า...ไม่เชื่อย้อนกลับไปฟังเพลง "สาวกระโปรงเหี่ยน" หรือ "จี่หอย" รับรองครื้นเครงทุกคราวไป...
ผมว่าอาร์สยาม และแกรมมี่ โกลด์ คงมองประเด็นการพัฒนาตรงนี้ออกนะครับ นอกจากขายได้เงินได้ทองแล้ว ยังพัฒนาคนฟังให้ก้าวตามโลกยุคไอที...ผมอาจจะคลั่งเพลง ฝรั่งมาค่อนชีวิต แต่อีกเบื้องหนึ่งของผมที่มาจากรากหญ้าชาวนาโดยกำเนิด ผมไม่เคยลืม...ไวพจน์ เพชรสุพรรณ, เพลิน พรหมแดน, ศรคีรี ศรีประจวบ, สังข์ทอง สีใส, ศักดิ์-สยาม เพชรชมพู, เทพพร เพชรอุบล...เพลงลูกทุ่งในยุคไอที น่าจับตามองหลายประเด็นครับ...


บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ