เปิดแล้ว...โครงการพัฒนาระบบประปา 5 แห่ง ใน สปป.ลาว

วันอังคารที่ 07 มีนาคม พ.ศ. 2560

เปิดแล้ว...โครงการพัฒนาระบบประปา 5 แห่ง ใน สปป.ลาว


คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2556 อนุมัติให้สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) ดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สำหรับโครงการพัฒนาระบบประปา 5 แห่ง ใน สปป.ลาว ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย และรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านในวงเงิน 310 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 สิ้นสุดปี พ.ศ. 2559

โครงการพัฒนาระบบประปาที่กล่าว เป็นงานก่อสร้างโรงกรองน้ำและท่อส่ง - จ่ายน้ำ ทางตอนเหนือ - กลาง - ใต้ของ สปป.ลาว ได้แก่ 1) เมืองแบ่ง แขวงอุดมไช (46.42 ล้านบาท) 2) เมืองคอบ แขวงไชยะบุลี (47.70 ล้านบาท) 3) เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว (63.39 ล้านบาท) 4) เมืองไชบุลี แขวงสะหวันนะเขต (83.83          ล้านบาท) และ 5) เมืองโขง แขวงจำปาสัก (37.14 ล้านบาท) จะนํามาซึ่งประโยชน์ต่อการบริโภคที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน สะอาด ปราศจากเชื้อโรคจากแหล่งน้ำดิบธรรมชาติ ลดค่าใช้จ่ายทางอ้อมในการรักษาพยาบาล         การสูญเสียรายได้ รวมถึงระบบเศรษฐกิจของเมืองที่มีฐานการรองรับการขยายตัวของการลงทุน การจ้างงาน และการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม การค้า และบริการ สำหรับการพัฒนาระบบประปาซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญต่อการดำรงชีวิต

- 28 กุมภาพันธ์ 2560 ณ เมืองไชบุลี แขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในงานพิธีเปิดโครงการพัฒนาระบบประปา 5 แห่ง ใน สปป.ลาว นำโดย H.E. Dr. Bounchanh SINTHAVONG Minister of Public Works and Transport (MPWT) ประธานในพิธีฝ่าย สปป.ลาว Mr. Phomma VEORAVANH Director General of Water Supply Department (DWS) กล่าวรายงานโครงการ และนายเนวิน สินสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) หรือ Neighbouring Countries Economic Development Cooperation Agency (Public Organization) Ministry of Finance หรือ (NEDA) ประธานในพิธีฝ่ายไทย กล่าวว่าโครงการพัฒนาระบบประปา 5 แห่ง ใน สปป.ลาว เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาระบบน้ำประปาที่ถูกสุขลักษณะอนามัยให้ประชาชนได้ใช้ในการอุปโภคบริโภค และเพิ่มมาตรฐานคุณภาพชีวิตของประชาชนให้หลุดพ้นจากความยากจน ทั้งนี้ รัฐบาล สปป.ลาว ต้องการพัฒนาโครงการที่กล่าวเป็นอย่างมาก โดยโครงการที่กล่าวสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 (2554-2558) ของ สปป.ลาว ที่มีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาความยากจน และหลุดพ้นจากการเป็นประเทศด้อยพัฒนา

อย่างไรก็ดี สปป.ลาว ขาดแคลนเงินทุนที่จะพัฒนาระบบประปาในทุกๆ เมือง และต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากหน่วยงานเพื่อการพัฒนาต่างๆ โดยที่เงินช่วยเหลือที่ได้รับจากหน่วยงานต่างๆ นั้นไม่สามารถพัฒนาระบบประปาได้ครบถ้วน รัฐบาล สปป.ลาว จึงขอรับความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากรัฐบาลไทยผ่าน NEDA โดยได้แจ้งความประสงค์อย่างเป็นทางการครั้งแรก ในการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยความร่วมมือ  ไทย-ลาว (Thailand-Laos Joint Commission for Bilateral Cooperation Meeting: JC) ครั้งที่ 16 ระหว่างวันที่ 14-15 ตุลาคม 2553 ณ กรุงเทพมหานคร

หลังจากนั้น คณะกรรมการบริหารสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (คพพ.) นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ จึงได้มีการพิจารณาผลการศึกษาคัดเลือกเมืองยากจนที่มีชายแดนติดกับประเทศไทย หรือเมืองที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่โครงการที่ NEDA ให้ความช่วยเหลือก่อนหน้านี้จาก ทั้งหมด 13 เมือง ประกอบด้วย เมืองหลา เมืองแบ่ง เมืองคอบ เมืองห้วยทราย เมืองไชบุลี เมืองยมมะลาด เมืองพะลานไช เมืองสาละวัน เมืองสุขุมา เมืองปากซอง เมืองโขง เมืองมูนละปาโมก และเมืองคีนาด โดยคัดเลือกออกมาเพียง 5 เมือง คือ เมืองแบ่ง เมืองคอบ เมืองห้วยทราย เมืองไชบุลี และเมืองโขง และอนุมัติให้ NEDA ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่รัฐบาล สปป.ลาว แม้ว่าการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวจะไม่มีความคุ้มค่าทางการเงินแต่จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างมาก โดยจะช่วยให้ประชาชนใน 5 เมืองที่กล่าวได้เข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่สำคัญ กล่าวคือ ได้มีน้ำประปาที่สะอาดและถูกสุขลักษณะใช้ ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ไขปัญหาความยากจนให้แก่ประชาชน สปป.ลาว เมื่อประชาชนได้มีความอยู่ที่ดีขึ้นก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวมและในระดับภูมิภาคต่อไป นอกจากนี้ การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่รัฐบาล สปป.ลาว ครั้งนี้   ยังช่วยสร้างความรู้สึกที่ดีของประชาชน สปป.ลาว ต่อประเทศไทย และเป็นการกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศอีกด้วย

ในการนี้ NEDA ได้นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีโดย NEDA แบ่งการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวออกเป็น      2 ระยะ โดยในระยะแรกให้ความช่วยเหลือในส่วนของเมืองยากจนที่มีชายแดนติดกับประเทศไทยหรือเมืองที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่โครงการที่ NEDA ให้ความช่วยเหลือก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ เมืองทั้ง 5 เมืองที่กล่าวยังมีความสำคัญตามระเบียงเศรษฐกิจภายใต้แผนงาน GMS ประกอบด้วย

•              เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว (เมืองตามแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ – ใต้)

•              เมืองคอบ แขวงไชยะบุรี (เมืองยากจน)

•              เมืองแบ่ง แขวงอุดมไชย (เมืองยากจน)

•              เมืองไชบุลี แขวงสะหวันนะเขต (เมืองตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก)

•              เมืองโขง แขวงจำปาสัก (เมืองยากจน)

NEDA ได้พิจารณาถึงความยั่งยืนของโครงการที่จะให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาล สปป.ลาว มีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการและดูแลรักษาระบบผลิตน้ำประปาไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงจัดให้มีการฝึกอบรมในเรื่องการบริหารจัดการและการบำรุงรักษาระบบผลิตน้ำประปาให้แก่เจ้าหน้าที่ สปป.ลาว ที่เกี่ยวข้อง โดยให้เป็นองค์ประกอบหนึ่งของการให้ความช่วยเหลือทางการเงินในครั้งนี้ด้วย เพื่อให้โครงการได้ถูกนำไปใช้อย่างคุ้มค่าและยั่งยืน ซึ่งค่าใช้จ่ายดำเนินโครงการพัฒนาระบบประปา 5 แห่ง ใน สปป.ลาว ในวงเงิน 310 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ 305 ล้านบาท และเงินให้เปล่า (สำหรับค่าฝึกอบรม) 5 ล้านบาท และมีเงื่อนไขทางการเงิน คือ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.5 ต่อปี อายุสัญญา 20 ปี (รวมระยะเวลาปลอดหนี้ 5 ปี) โดย NEDA ใช้เงินสะสม จำนวน 110 ล้านบาท เป็นแหล่งเงินทุนในลำดับแรก แล้วจึงขอรับการจัดสรรเงินงบประมาณ จำนวน 100 ล้านบาท และกู้เงินจากสถาบันการเงินภายในประเทศนำไปให้รัฐบาล สปป.ลาว กู้ต่ออีก 100 ล้านบาท

การดำเนินโครงการเริ่มโดย กรมน้ำประปา กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง (Department of Water Supply, Ministry of Public Works and Transport) ได้ว่าจ้างบริษัท ไฮโดร เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง (Contractor) และบริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นวิศวกรที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง (Construction Supervision Consultant) ระยะเวลาดำเนินงานสัญญาละ 15 เดือน (รายละเอียดปรากฏตามเอกสารแนบ-ข้อมูลเพิ่มเติม และภาพประกอบ)

อนึ่ง การดำเนินโครงการพัฒนาระบบประปา 5 แห่ง ใน สปป.ลาว ดังกล่าวข้างต้น เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทและภารกิจของ NEDA ที่ต้องดำเนินการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม การคมนาคม ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการจ้างงานและยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่แห่งท้องถิ่นให้ดีขึ้นนั่นเอง ซึ่งจะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยช่วยสนับสนุนให้ประชาชน สปป.ลาว มีมาตรฐานในการดำรงชีวิตสูงขึ้น และลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจให้มีความเทียบเท่ากับประชาชนในกลุ่มประเทศอาเซียน เมื่อการพัฒนาโครงการแล้วเสร็จจะทำให้ประชาชน สปป.ลาว มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมีน้ำสะอาดถูกสุขอนามัยใช้กันถ้วนหน้า และสร้างความรู้สึกที่ดีต่อประเทศไทยและประชาชนลาว รวมถึงช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย และ สปป.ลาว ให้มีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นผ่านการช่วยเหลือทางการเงิน เพื่อพัฒนาโครงการที่กล่าว นอกจากนี้ ประเทศไทยมีเทคโนโลยีทางด้านการก่อสร้างและพัฒนาระบบประปาที่ก้าวหน้าจึงเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยในการสร้างโอกาสในการขายสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมประปาทั้งกระบวนการ โดยมีการใช้สินค้าและวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างจากประเทศไทยภายใต้การดำเนินโครงการที่กล่าวมากถึงร้อยละ 85 ของมูลค่าโครงการ เช่นท่อ PVC ท่อเหล็ก มิเตอร์น้ำ เครื่องสูบน้ำ สารเคมีสำหรับการบำบัดน้ำ และอุปกรณ์ซ่อมบำรุง ที่สำคัญเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบกิจการน้ำประปาของไทยเข้าไปทำงานหรือลงทุนระบบน้ำประปาใน สปป.ลาว



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ