เมื่ออาทิตย์ก่อนมีข่าวออกมาว่าสมาชิกสหกรณ์การเกษตรทั่วประเทศกว่า 1,000 แห่ง โดยการนำของ นายปฏิพล เกตุรัตนัง ประธานสหกรณ์ภาคการเกษตรนาบอน จำกัด จ.นครศรีธรรมราช พร้อมด้วยแกนนำเกษตรกรจากทุกภาคของประเทศไทย และ นายบรรยงค์ อัมพรตระกูล ประธานเครือข่ายปราบโกงแห่งชาติ ได้ไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.), คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และกระทรวงพลังงาน เพื่อเรียกร้องรัฐบาลให้ทบทวนการแบ่งสรรปันส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์หรือโซล่าร์เซลล์ ตามโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตรเสียใหม่
เรื่องของการให้ภาคเอกชนผลิตไฟฟ้าขายนั้น ก่อนหน้านี้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2557 ให้ปรับปรุงโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชุมชนมาเป็นโครงการฯ สำหรับหน่วยราชการและสหกรณ์การเกษตร โดยมีขนาดกำลังการผลิตรวม 800 เมกะวัตต์ และไม่เกิน 5 เมกะวัตต์ต่อโครงการ พร้อมทั้งกำหนดอัตรารับซื้อแบบ FiT (Feed-in Tariff)เพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการผลิตที่หน่วย 5.66 บาท มีระยะเวลาสนับสนุน 25 ปี
ในทางปฏิบัติได้มีการแบ่งปันกำลังผลิตฝ่ายละ 400 เมกะวัตต์ ซึ่งฝ่ายสหกรณ์เห็นว่าไม่เป็นธรรม เนื่องจากจำนวนสหกรณ์การเกษตรมีจำนวนสมาชิกมากกว่า 30-40 ล้านคน พร้อมกับมีแนวคิดที่จะลดราคารับซื้อระยะที่ 2 ลงเหลือหน่วยละ 4.12 บาท
จากในข่าว ข้อเรียกร้องที่ยื่นไปมี3 ข้อ คือ 1.ขอให้คงราคารับซื้อไฟฟ้าจากโซล่าฟาร์มในราคาเดิมคือ 5.66 บาท/หน่วย 2.ขอให้นำโควตาของหน่วยงานราชการที่เหลือเนื่องจากไม่สามารถดำเนินการได้ มาแบ่งปันให้กับเกษตรกร และ 3.ขอให้คงระเบียบการคัดเลือกด้วยวิธีการจับฉลากเหมือนในระยะที่ 1 เพื่อความโปร่งใส เสมอภาคและยุติธรรม ศ.ดร.สุนทร บุญญาธิการ ประธานมูลนิธิลดโลกร้อนซึ่งไปร่วมงานแถลงข่าวด้วย ได้ให้ความเห็นเสริมถึงการแบ่งสรรปันส่วนว่า “โครงการนี้มี 800 เมกะวัตต์ เป้าหมายเดิมคือให้เกษตรกรทั้งหมด แต่ได้มีการนำมาแบ่งให้ข้าราชการ 400 เมกะวัตต์ ถ้าราชการทำไม่ได้ก็ควรคืนโควตาส่วนนี้ให้สหกรณ์ไป”
ด้าน นายบรรยงค์ อัมพรตระกูล กล่าวถึงการกำหนดโครงสร้างราคาว่า “ราคา 5.66 บาทต่อหน่วยนั้นเหมาะสมแล้ว เพราะต้องไม่ลืมว่าหากภาคการเกษตรเข้มแข็ง ประเทศชาติก็มั่งคั่งมั่นคงตามไปด้วย ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของนายกรัฐมนตรีที่มีความมุ่งมั่นจะช่วยเหลือเกษตรกรทั่วประเทศให้มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตและสวัสดิการที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
เลือกเอาข่าวนี้มาเล่าต่อเพราะโดยส่วนตัวพอรู้ระแคะระคายมาก่อนหน้านี้นานแล้วว่า ไผ่ก่อนี้มีอะไรซ่อนเร้นอยู่มาก แต่จุดใหญ่ใจความเลือกมาเพราะรูปที่ใช้ประกอบ เลือกเพราะสงสารเด็กที่ชูป้ายข้อความว่า “หยุดเรียน 1 วันเพื่ออนาคต 25 ปี”