จับตา “โคราช-แปดริ้ว’ ขึ้นแท่นมหานครแห่งใหม่ หลังปลดล็อกรถไฟความเร็วสูงพาความเจริญเข้าสู่จังหวัด ประธานหอฯชี้เศรษฐกิจเมืองย่าโมปี 63 ทะยานแตะ 7 แสนล้านจากปัจจุบันอยู่ที่ 2.9 แสนล้าน ด้านทุนใหญ่จากส่วนกลางกว้านซื้อที่ดินทำศูนย์การค้า โรงแรม คอนโดมิเนียมฯลฯ ส่งผลราคาพุ่งกว่า 50%ขณะที่ฉะเชิงเทราถูกจัดวางเป็น‘เมืองศูนย์ราชการ’ เชื่อมอีอีซี-ทวาย
เป็นที่แน่นอนแล้วว่าอีกไม่นานเมืองไทยจะมีรถไฟความเร็วสูงเริ่มต้นสายแรกคือกรุงเทพฯ-โคราช โดยรัฐบาลได้ประกาศใช้ ม.44 ปลดล็อกปัญหาข้อจำกัดต่างๆ เพื่อให้โครงการเดินหน้าได้ ทำให้โคราชหรือนครราชสีมาที่มีความโดดเด่นในหลายด้านยกระดับกลายเป็นมหานครแห่งภาคอีสานในทันที ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้มีการก่อสร้างโครงการใหญ่ๆรองรับความเจริญมากมาย โดยเฉพาะการเข้าไปลงทุนของกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ อาทิ ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ที่เพิ่มทุนอีกมากกว่า 1.5 พันล้านบาทรีโนเวตห้างใหม่ หลังลงทุนในโคราชมานานกว่า17 ปีเช่นเดียวกับผู้เล่นรายใหม่อย่างเซ็นทรัล พลาซ่า ที่นอกจากจะสร้างศูนย์การค้าแล้วยังมีโครงการโรงแรมและอาคารสำนักงานอยู่ในพื้นที่เดียวกัน รวมพื้นที่ 65 ไร่ มูลค่ากว่า1หมื่นล้านบาท ซึ่งตอนนี้การก่อสร้างคืบหน้าแล้ว 70% เตรียมเปิดให้บริการในเดือนกันยายนนี้
นายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผย “สยามธุรกิจ” ว่าโครงการคมนาคมหลักๆที่จะเชื่อมโคราชกับเมืองต่างๆประกอบด้วยโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราช, โครงการมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช และ โครงการรถไฟรางคู่กรุงเทพฯ-แก่งคอย-โคราช-หนองคาย โดยเฉพาะโครงการมอเตอร์เวย์กับรถไฟรางคู่ที่กำหนดแล้วเสร็จในปี 2562 จะผลักดันมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในจังหวัดหรือจีดีพีของโคราชในปัจจุบันซึ่งมีมูลค่า 296,400 ล้านบาท เป็น 700,000 ล้านบาทในปี 2563
“เท่าที่ทราบตอนนี้ที่ดินในโคราชมีการเปลี่ยนมือจำนวนมาก โดยมีนักลงทุนจากกรุงเทพฯเข้ามากว้านซื้อเพื่อทำโครงการต่างๆ อาทิ ห้างสรรพสินค้า โรงแรม โรงพยาบาล โมเดิร์นเทรด คอนโดมิเนียม ฯลฯ ส่งผลให้ราคาที่ดินพุ่งขึ้นภายในปีเดียวกว่า 50%โดยส่วนตัวมองว่าหากโครงการคมนาคมเสร็จสมบูรณ์จะทำให้โคราชกลายเป็นมหานครแห่งใหม่ หรือเป็นเมืองคู่แฝดของกรุงเทพฯ ซึ่งปัจจุบันโคราชยังเป็นที่ตั้งของโรงเรียนการบินของบริษัทบางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ หรือ BAC ซึ่งถือเป็นโรงเรียนการบินเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก” ประธานหอฯโคราช กล่าว
ปัจจุบันประชากรของโคราชมีจำนวนมากที่สุดในภาคอีสานโดยมีประชากร2,610,164 คน รองลงมาเป็น อุบลราชธานีและขอนแก่นมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในจังหวัดหรือจีดีพีใหญ่เป็นอันดับ 1 ของภาคอีสาน ภาวะเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดนครราชสีมาคือภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และภาคการค้าส่งค้าปลีกเป็นสำคัญ
เช่นเดียวกับอีกหนึ่งจังหวัดในภาคตะวันออกคือฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นทางผ่านของของรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ – ระยองที่ผ่านการอนุมัติเรียบร้อยแล้ว โดยบอร์ด ร.ฟ.ท. ได้อนุมัติไฮสปีดเทรนกรุงเทพฯ-ระยอง วงเงินประมาณ 1.52 แสนล้านบาท โดยจะมีการนำเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมพิจารณาก่อนส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อตั้งคณะกรรมการพีพีพีขึ้นมาดำเนินงานตามขั้นตอนก่อนนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ
โดยจังหวัดฉะเชิงเทราได้ถูกวางเป้าหมายให้พัฒนาเป็นเมืองศูนย์ราชการโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รับมอบนโยบายในการเตรียมความพร้อมวางแผนการจัดตั้งและพัฒนาพื้นที่บริเวณ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ให้เป็น ‘เมืองศูนย์ราชการ’ เพื่อรองรับการขยายตัวของโครงการอีอีซีและรองรับการขยายตัวของกรุงเทพมหานครที่เพิ่มมากขึ้น โดยจากการประชุมร่วมกันกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ขอสรุปเบื้องต้นว่า การพัฒนาเมืองฉะเชิงเทราเป็นเมืองศูนย์ราชการสามารถทำได้ใน 2 ลักษณะคือ
1.จัดตั้งเป็นเมืองศูนย์ราชการระดับภาค เพื่อเป็นศูนย์รวมการบริหารราชการของการสนับสนุนการเป็นฐานเศรษฐกิจใหม่ที่ทันสมัยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมทั้งรองรับการอยู่อาศัยที่มีมาตรฐานนานาชาติและ 2.จัดตั้งเป็นเมืองศูนย์ราชการระดับประเทศ โดยการวางแผนพัฒนาจะครอบคลุมการสร้างเมืองใหม่ที่มีการวางแผนและออกแบบอย่างมีแบบแผน เพื่อความทันสมัยเป็นศูนย์กลางการบริหารประเทศ และย้ายที่ตั้งของส่วนราชการสำคัญมาอยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยใช้รูปแบบของเมืองปุตราจายา (Putrajaya) ประเทศมาเลเซีย เป็นกรณีตัวอย่างในการศึกษา
สำหรับ‘ปุตราจายา’ เป็นความตั้งใจของผู้นำมาเลเซียที่ต้องการจะเนรมิตเมืองใหม่ขึ้นมา เมื่อปี 2538 โดยกำหนดแผนการพัฒนา 3 ระยะ คือ ระยะ 1A แล้วเสร็จในปี 2542 ระยะ 1B แล้วเสร็จในปี 2544 และระยะ 1 C แล้วเสร็จในปี 2553 เพื่อเป็นศูนย์การบริหารและปกครอง แยกออกจากเมืองหลวงกัวลาลัมเปอร์ เพื่อต้องการควบคุมปัญหาการเจริญเติบโตที่รวดเร็วและต้องการแก้ไขปัญหาการจราจรในเมืองหลวงด้วย นอกจากนี้ จะเป็นความพร้อมในทุก ๆ ด้าน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของคนมาเลเซีย
อย่างไรก็ตามการวางแผนจัดตั้งเมืองเมืองศูนย์ราชการระดับประเทศ จะเป็นโครงการระยะยาวที่ต้องมีการวางแผนไม่น้อยกว่า 15 ปี และจำเป็นต้องมีการศึกษาจัดทำแผนแม่บท การจัดหาที่ดิน การจัดตั้งบริษัทระดมทุน การก่อสร้าง การโยกย้ายหน่วยราชการ และอาจจำเป็นต้องมีกฎหมายเป็นการเฉพาะเพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้ตามแผนที่วางไว้
อย่างไรก็ตาม ฉะเชิงเทราจะเป็นเมืองเชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯและปริมณฑล กับพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก โดยมีรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกกรุงเทพฯ – ระยองเป็นตัวเชื่อมการเดินทาง จึงต้องพัฒนาให้เป็นเมืองพักอาศัยชั้นดี มีสภาพแวดล้อมน่าอยู่และทันสมัย รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ใหม่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงรองรับความเจริญเติบโตของกรุงเทพฯและระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซีเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯ และอีอีซีโดยสามารถขนส่งสินค้าจากเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ประเทศเมียนมาผ่านเข้ามาทางจังหวัดกาญจนบุรี เชื่อมเข้าท่าเรือกรุงเทพ สู่แหลมฉบัง ข้ามไปกัมพูชา เวียดนาม และจีนตอนใต้ รวมถึงการขนส่งสินค้าจากอีอีซีไปยังท่าเรือทวาย เพื่อส่งต่อไปยังตลาดอินเดีย-ตะวันออกกลาง และกลุ่มประเทศตะวันตก