คมนาคม เล็งผุดทางด่วนลอดเจ้าพระยา-บางนา หวังแก้ปัญหาจราจรย่านสาทร

วันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

คมนาคม เล็งผุดทางด่วนลอดเจ้าพระยา-บางนา หวังแก้ปัญหาจราจรย่านสาทร


“คมนาคม” ถกร่วม MLIT ศึกษาสร้างอุโมงค์ทางด่วนลอดเจ้าพระยา-บางนา ระยะทาง 8.7 กม. เชื่อมทางด่วนบริเวณ ถ.นราธิวาสฯ ไปฝั่งตะวันออกไม่ผ่าน กทม. หวังแก้ปัญหาจราจรย่านสาทร  “ศักดิ์สยาม” ระบุรูปแบบการลงทุนใช้ TFF สั่ง สนข. พิจารณาระเบียบเชื่อมโครงการกับเอกชน หวั่นเกิดข้อพิพาทในอนาคต คาดสรุปผลการศึกษา มี.ค.นี้ ก่อนเสนอ คจร. ไฟเขียว

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) ได้มารายงานความก้าวหน้าผลการศึกษาโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางด่วนลอดใต้เจ้าพระยาไปบางนา ผ่านพื้นที่บางกระเจ้า จ.สมุทรปราการ ระยะทาง 8.7 กิโลเมตร โดยจะเชื่อมต่อกับทางพิเศษเฉลิมมหานครกับถนนนราธิวาส และเชื่อมต่อทางพิเศษเฉลิมมหานครกับสี่แยกบางนา  โดยอุโมงค์ทางด่วนดังกล่าว จะทำให้รถที่จะวิ่งไปยังฝั่งตะวันออก ไม่ผ่านพื้นที่ใจกลางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งเป็นการบรรเทาแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณสาทร สีลม บางรัก พระราม 4 และบริเวณใกล้เคียง ซึ่งจากการศึกษาเบื้องต้นรูปแบบโครงสร้างเป็นอุโมงค์ใต้ดิน ไป-กลับ จำนวน 4 ช่องจราจร

ในส่วนรูปแบบการลงทุนนั้น เบื้องต้นอาจจะใช้เงินลงทุนจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) โดยจากข้อมูล พบว่า ปริมาณการจราจรจะมีความคุ้มค่าผลตอบแทนจากการลงทุนรูปแบบการลงทุน ขณะที่การออกแบบล่าสุด มี 2 แนวทาง ได้แก่ 1.การแยกเป็น 2 อุโมงค์ คือ อุโมงค์ขาไป และอุโมงค์ขากลับ 2.เป็นอุโมงค์เดียว โดยมี 2 ชั้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะสรุปรายละเอียดต่างๆ รวมถึงวิธีการก่อสร้าง และประมาณการณ์ด้านราคา ได้ภายใน มี.ค. 2563

ทั้งนี้ ได้ฝากให้ MLIT พิจารณาผลการศึกษาว่า หากสามารถดำเนินการได้จริงนั้น จะกระทบกับการจราจรในช่วงเวลาที่มีการก่อสร้างหรือไม่อย่างไร รวมถึงได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปดูรายละเอียดอย่างรอบคอบ เนื่องจากอุโมงค์ดังกล่าวนั้น จะเชื่อมต่อกับโครงการที่ได้ให้สัมปทานกับภาคเอกชน เพื่อไม่ให้มีข้อพิพาทเกิดขึ้นได้ในอนาคต

ด้านนายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) กล่าวว่า โครงการดังกล่าว เพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณสาทร สีลม บางรัก พระราม 4 และบริเวณใกล้เคียง เนื่องจากปัญหาการจราจรในตัวกรุงเทพชั้นในหลักๆ ส่วนใหญ่มาจากทางด้านใต้ของกรุงเทพ และทางด้านฝั่งตะวันออกที่มาจากทางด้านพื้นที่ EEC ซึ่งทั้ง 2 จุดพื้นที่ส่งผลให้ปริมาณของจราจรหนาแน่นถึงบริเวณ 3 เหลี่ยมคลองเตย โดยก่อนหน้านี้ได้มีการทำการศึกษา เพื่อก่อสร้างสะพานข้ามแก้ไขปัญหาการจราจรดังกล่าวพบว่าหากดำเนินการตัดถนนเลี่ยงเมืองก็จะติดปัญหาบริเวณพื้นที่บางกะเจ้าเพราะเป็นพื้นที่สีเขียวห้ามมีการก่อสร้าง จึงมีแนวคิดที่จะทำการก่อสร้างทางลอดใต้ดินโดยเบื้องต้นจะเริ่มจากบริเวณแยกนราธิวาส-บางนา-ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ไปทางพัทยา ส่วนการเวนคืนนั้นคาดว่าจะเวนคืนพื้นที่ไม่มาก

ทั้งนี้ หลังจากนี้หากทาง MLIT ทำการศึกษาความเหมาะสมโครงการฯ แล้วเสร็จ จากนั้นจะมีการเสนอรายงานให้ สนข. เพื่อทราบ และนำเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณา รวมถึงเสนอให้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) โดยมีพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานรับทราบและพิจารณาต่อไป โดยในส่วนของอุโมงค์ทางลอดเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรที่ทาง สนข.จะนำเสนอนั้นเบื้องต้นจะมีประมาณ 9 แห่ง ซึ่งอยู่ในส่วนของแผนแม่บทการแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพและปริมณฑลที่จะเป็นแผนภาพใหญ่ในการแก้ไขปัญหาจราจรในอนาคต



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ