กบง. ตั้งแท่นลดผลกระทบค่าครองชีพด้านพลังงานทั้งไฟฟ้า ก๊าซ NGV และ LPG พร้อมขยายวัน SCOD โครงการ SPP Hybrid Firm ถึงปี 65

วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2563

กบง. ตั้งแท่นลดผลกระทบค่าครองชีพด้านพลังงานทั้งไฟฟ้า ก๊าซ NGV และ LPG  พร้อมขยายวัน SCOD โครงการ SPP Hybrid Firm ถึงปี 65


กบง. เห็นชอบทบทวนมาตราการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดของ Covid-19 โดยพิจารณาการออกมาตรการบรรเทาผลกระทบภาคพลังงานทั้งระบบให้เป็นรูปธรรม นอกจากนี้ให้ปรับหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็วใหม่ รวมทั้งให้ขยายเวลามาตรการช่วยเหลือราคาก๊าซ LPG ออกไปจนสิ้นปี 63 และเห็นชอบการขยายกำหนดวัน SCOD โครงการ SPP Hybrid Firm ออกไป 1 ปี เป็นปี 65

วันนี้ (21 ก.ย. 63) นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีนายสุพัฒน์พงษ์  พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการ โดยมีเรื่องพิจารณาเห็นชอบแนวทางลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสำหรับประชาชน เพื่อเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในการดำรงชีพของประชาชน ในช่วงการแพร่ระบาดของ Covid-19 และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ 

โดยแนวทางการลดภาระค่าไฟฟ้า กบง. ได้มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปดำเนินการทบทวนความต้องการรายได้ของการไฟฟ้า ทบทวนหลักเกณฑ์ทางการเงินให้มีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปบริหารจัดการปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และให้ กกพ. ร่วมกับ กฟผ. จัดทำแผนการเดินเครื่องโรงไฟฟ้า รวมทั้งติดตามกำกับดูแลการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าของ กฟผ.

การทบทวนการกำหนดราคาก๊าซธรรมชาติมอบหมายให้ กกพ. ไปกำหนดอัตราค่าบริการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (S) และทบทวนค่าบริการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ ให้เหมาะสม

การช่วยเหลือราคา NGV มอบหมายให้ กกพ. ทบทวนต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติ ในโครงสร้างราคาขายปลีกก๊าซ NGV ให้มีความเหมาะสม สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน

ทบทวนหลักเกณฑ์ในการจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า: มอบหมาย กกพ. ไปปรับปรุงแนวทางการจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อให้สามารถจัดสรรเงินกองทุนฯ โครงการต่างๆ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล

นายวัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุม กบง. ยังเห็นชอบการปรับหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว จากนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 10 เป็นน้ำมันดีเซลเกรดพื้นฐานของประเทศ กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ได้ปรับเปลี่ยนชื่อเรียกน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว โดยมีน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี7) และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 เป็นทางเลือก จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป และการปรับหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 7 ในส่วนของค่า X จากเดิมเป็นค่าเฉลี่ย เป็นอัตราต่ำ ซึ่งจะทำให้การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 7 ลดลงประมาณ 0.051 บาทต่อลิตร (ณ ราคาไบโอดีเซล 25.90 บาทต่อลิตร) ทั้งนี้ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ผู้ค้าน้ำมันเพิ่มสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลบี 10 ในการดูดซับน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกิน และช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มอีกทางหนึ่งด้วย

เห็นชอบให้ทบทวนการกำหนดราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) รัฐบาลยังคงช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อการดำรงชีพและภาระค่าครองชีพจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 กบง. จึงให้คงราคาขายปลีก LPG ออกไปอีก 3 เดือน (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม - 31 ธันวาคม 2563) ให้ราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 14.3758 บาทต่อกิโลกรัม หรือราคาขายปลีกอยู่ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม โดยใช้กองทุนน้ำมันฯ

ในส่วนของ LPG มาบริหาร (รายจ่ายประมาณ 450 ล้านบาท/เดือน) ซึ่งเป็นไปตามกรอบวงเงินที่คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) กำหนดให้ใช้ได้ไม่เกิน 10,000 ล้านบาท หรืออีกประมาณ 5 เดือน (ตุลาคม 2563 - มกราคม 2564) ณ 13 กันยายน 2563 บัญชีก๊าซ LPG -7,424 ล้านบาท เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนต่อไป

เห็นชอบตามข้อเสนอเชิงนโยบายตามข้อเสนอของ กกพ. เพื่อเยียวยาผู้ได้รับการคัดเลือกโครงการ SPP Hybrid Firm ในการขยายกำหนดวัน SCOD โครงการ SPP Hybrid Firm ออกไป 1 ปี จากเดิมปี 2564 เป็นปี 2565 จากปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาโครงการฯ ที่ไม่สามารถจัดทำรายงานด้านสิ่งแวดล้อมได้ตามระยะเวลา โดยมอบให้ กกพ. ไปดำเนินการแจ้งผู้ได้รับการคัดเลือก ให้จัดทำรายงานแผนการดำเนินการโครงการฯ และจัดส่งให้ กกพ. ภายในวันที่ 30 ตุลาคม 2563 เพื่อพิจารณา และนำผลการพิจารณา มารายงานต่อ กบง. ต่อไป

นอกจากนี้ เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการการส่งออกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) โดยให้ยกเลิกมติเดิม และมอบหมายให้ กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เป็นผู้อนุญาตการส่งออก LPG เป็นรายเที่ยว สำหรับการส่งออกจากปริมาณที่ผลิตได้ในประเทศจะพิจารณาอนุญาตเฉพาะผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ที่เป็นผู้ผลิต LPG และให้ส่งออกได้ในปริมาณ   ไม่เกินกว่าส่วนที่เกินจากความต้องการใช้ภายในประเทศ และให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) พิจารณามาตรการ LPG จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติเพื่อการส่งออกและจำหน่ายในประเทศ หากเกิดผลกระทบต่อสภาพคล่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และแจ้งให้ ธพ. ทราบ



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ