พนัสฯ ร่วมดันรถขนส่งพลังงานไฟฟ้า มุ่งพัฒนานวัตกรรมสินค้าไทยแข่งขันตลาดโลก

วันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2563

พนัสฯ ร่วมดันรถขนส่งพลังงานไฟฟ้า มุ่งพัฒนานวัตกรรมสินค้าไทยแข่งขันตลาดโลก


ในสังคมปัจจุบันทุกคนคงตระหนักดีถึงปัญหาสภาพแวดล้อม มลภาวะ และพลังงาน ซึ่งทำให้ความตื่นตัวเกิดขึ้นเป็นวงกว้างในแทบจะทุกอุตสาหกรรม ไม่เว้นแต่อุตสาหกรรมด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ แน่นอนว่า มีผู้ประกอบการหลายรายพร้อมร่มผลักดันให้เกิดการใช่ยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในวงการขนส่ง เพราะจะช่วยลดต้นทุนให้แก่องค์กร และประเทศด้วย

เช่นเดียวกับ บริษัท พนัสแอสเซมบลีย์ จำกัด ผู้นำอันดับ 1 อุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อการพาณิชย์และขนส่งของประเทศ ในกลุ่มผู้ประกอบการรถพ่วงและกึ่งพ่วง ได้มีการพัฒนาในทุกด้านอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ล่าสุดได้เปิดวิสัยทัศน์ด้านยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ด้วยการเข้าไปร่วมกับสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) ในการสนับสนุนการจัดการ iEVTech 2020 หรือ International Electric Vehicle Technology Conference and Exhibition ครั้งที่ 5 ซึ่งเป็นงานจัดประชุมและแสดงเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทน สิ่งแวดล้อม และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคภายในงาน ASEAN Sustainable Energy Week 2020 (ASE 2020)

นายพนัส วัฒนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ เอง ก็ได้ให้ความสนใจในเรื่องพลังงานทดแทน และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก จึงได้มีการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ วิจัย และพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์และการขนส่งอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี และมีเป้าหมายชัดเจนที่จะเป็นหนึ่งในผู้นำที่จะผลักดันเรื่องนี้ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาให้เกิดยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์และขนส่ง นอกเหนือจากนั้นบริษัทฯ ยังมุ่งหวังที่จะพัฒนานวัตกรรมสินค้าไทยให้สามารถออกไปแข่งขันในตลาดโลกได้ ซึ่งปัจจุบันสินค้าดั้งเดิมของบริษัทฯ ก็ได้ส่งออกไปยังเกือบ 30 ประเทศทั่วโลกแล้ว และคาดหวังสินค้าด้านนวัตกรรมยานยนต์ใหม่ๆ ก็จะสามารถออกไปทำตลาดต่างประเทศได้เช่นกัน

“บริษัทฯ สนใจด้านนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้ามานานแล้วโดยได้เริ่มวิจัยและพัฒนาในกลุ่มยานยนต์พิเศษสำหรับกิจการภาคพื้นในสนามบิน (EV Ground Support Equipment) ก่อนเป็นลำดับแรกตั้งแต่ปี 2016 และได้ต้นแบบสินค้ารถดันเครื่องบินพลังงานไฟฟ้า (EV Pushback Tractor) ขนาด 40 ตันที่ใช้ดันเครื่องบินน้ำหนัก 400 ตัน ภายใต้แบรนด์ Bliss-Fox by Panus GSE รุ่น F1-340E ในปีถัดมา และเปิดตัวเข้าสู่ตลาดโลกที่งาน Inter Airport, Las Vagas USA ในปี 2018 ซึ่งนับเป็นรถดันเครื่องบินพลังงานไฟฟ้าตัวแรกของโลกในขนาด 40 ตัน และในปี 2019 ก็ได้มีการเปิดตัวรถดันเครื่องบินพลังงานไฟฟ้าอีกรุ่นหนึ่งคือ Bliss-Fox by Panus GSE รุ่น F1-280E ที่งาน Inter AirportEurope, Munich GERMANY นับเป็นตัวแรกของโลกอีกครั้งในรุ่นขนาด 30 ตันที่ใช้ดันเครื่องบินน้ำหนัก 300 ตัน นับเป็นความภาคภูมิใจของสินค้าไทยอีกชิ้นหนึ่ง”

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวอีกว่า นับถึงเวลาของการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายของธุรกิจด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ครั้งใหญ่อีกครั้ง นับตั้งแต่การพยามยามจะบริหารพลังงาน ต้นทุน ค่าใช้จ่าย ของผู้ประกอบการต่างๆ ด้วยการนำพลังานทางเลือกจากก๊าซ LPG, NGV มาใช้เมื่อหลายปีก่อน แต่ในครั้งนี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่พลังงานไฟฟ้า และคาดว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้งในอุตสาหกรรมนี้ อาจจะค่อยๆ เริ่มต้นจากยานยนต์ส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ไปสู่ยานยนต์เพื่อการพาณิชย์และขนส่งในขั้นถัดไป จากข้อมูลตลาดรวม ณ กลางปี 2563 ประเทศไทยมีจำนวนยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนที่เป็นแบบไฟฟ้า 100% (BEV) ทั้งสิ้นจำนวน 4.301 คัน มีแบบไฮบริดและปลั๊คอินไฮบริด (HEV & PHEV) 167,767 คัน ในส่วนยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์และขนส่งนั้นเรียกได้ว่าแทบจะยังไม่ได้เริ่มต้นสักเท่าไร บริษัทฯ วิเคราะห์ว่าหลังจากนี้ตลาดในส่วนยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์และขนส่งน่าจะค่อยๆเริ่มต้นขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในส่วนรถบัสโดยสารสาธารณะ, รถตู้โดยสาร, รถบรรทุกเพื่อการขนส่ง และแม้แต่รถหัวลากขนาดใหญ่

อย่างไรก็ดี ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าไม่ว่าประเภทใด คงไม่สามารถเติบโตไปโดยลำพังได้ ยังคงต้องพัฒนาควบคู่ไปกับธุรกิจข้างเคียงอื่นๆ เช่น แบตเตอรี่ไฟฟ้า สถานีอัดประจุไฟฟ้า และ Charging Solution แม้กระทั่งรวมไปถึงพวก Application, Platform ต่างๆที่คงต้องเกิดขึ้นควบคู่ไปพร้อมๆกันด้วย ยกตัวอย่าง เช่น สถานีอัดประจุไฟฟ้าในประเทศไทยรวมกันทุกค่ายทุกยี่ห้อจากตัวเลขล่าสุดยังมีไม่ถึง 700 สถานี เมื่อเทียบกับสถานีบริการน้ำมันที่มีรวมกันกว่า 7,000 สถานี ซึ่งมีช่องให้บริการต่อสถานีมากกว่าหลายเท่า ซึ่งในอนาคต ส่วนสถานีบริการ LPG/NGV มีทิศทางลดลงต่อเนื่อง ปัจจุบันน่าจะมีอยู่ประมาณ 2,000 แห่งนอกจากการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าสาธาณะ เช่น รถบัสสาธารณะโดยสาร บริษัทฯ ยังให้ความสนใจด้านแบตเตอรี่และสถานีอัดประจุควบคู่กันไปด้วย

“ในงาน iEVTech 2020 ครั้งนี้ ทางบริษัท พนัสฯ ได้ร่วมสนับสนุนงานโดยจะนำตัวอย่างการออกแบบส่วนหัวรถดันเครื่องบินพลังงานไฟฟ้า (EV Pushback Tractor) ซึ่งเป็นยานยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% ไปโชว์ที่งานในครั้งนี้ พร้อมทั้งยังมีนวัตกรรมสถานีชาร์จไฟฟ้า (EV Charging Innovation) แบบ Normal Charge และ Quick Charge จัดแสดงในงานร่วมกันด้วย”



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ