กสอ. เสริมศักยภาพผู้ประกอบการ โชว์ผลสำเร็จ “ฉลากคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทย” เฟส 2

วันพฤหัสบดีที่ 09 กันยายน พ.ศ. 2564

กสอ. เสริมศักยภาพผู้ประกอบการ โชว์ผลสำเร็จ “ฉลากคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทย” เฟส 2


กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม โซว์ผลสำเร็จ จัดแสดงสินค้าพร้อมส่งเสริมการจำหน่าย ผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่ผ่านการรับรองฉลากคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทยปี 2564 พร้อมมอบประกาศนียบัตร คาดสร้างมูลค่าเพิ่มสิ่งทอไทยไม่น้อยกว่า 20%

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กสอ. โดยกองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ได้ดำเนินกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอเข้าสู่มาตรฐานอุตสาหกรรม เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 ต่อเนื่องมาถึงปี 2564 เพื่อเร่งยกระดับผลิตภัณฑ์ สิ่งทอไทย ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ อาทิ ผู้ผลิต เส้นด้าย ผ้าผืน เสื้อผ้าสำเร็จรูป เคหะสิ่งทอ และสินค้าไลฟ์สไตล์ ที่มีสิ่งทอเป็นองค์ประกอบ ด้วยการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน เพื่อยื่นขอการรับรอง ภายใต้ตราสัญลักษณ์ คุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทย (Thailand Textiles Tag) หรือ ฉลากคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทย โดยฉลากดังกล่าวมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับคุณภาพของเนื้อผ้า ความคงทนของสี และความปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง รวมถึงวัตถุดิบที่ใช้และกระบวนการผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และพิจารณาจากแหล่งกำเนิดของสินค้า (Made in Thailand) โดยยึดตามหลักสากลประกอบไปด้วย เส้นด้ายที่ผลิตในประเทศไทย (Yarn Forward) หมายถึง กรณี ผู้ประกอบการซื้อเส้นใยแล้วนำมาผ่านกระบวนการปั่นเป็นเส้นด้ายในประเทศไทย ผ้าผืนที่ผลิตในประเทศไทย (Fabric Forward) หมายถึง กรณี ผู้ประกอบการซื้อเส้นด้ายแล้วนำมาผ่านกระบวนการทอ หรือ ถัก เป็นผ้าผืนในประเทศไทย รวมถึงผ่านกระบวนการฟอก ย้อม พิมพ์ และตกแต่งสำเร็จในประเทศไทย เป็นสำคัญ

ทั้งนี้ เพื่อเกิดการพัฒนาสินค้าอย่างมีคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ทั้งยังลดการนำเข้าวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สิ่งทอเครื่องนุ่งห่มจากต่างประเทศ สนับสนุนและส่งเสริมผู้ผลิตภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 ที่กิจกรรมเศรษฐกิจและการเดินทางต้องหยุดชะงัก และเกิดการเปลี่ยนแปลงของตลาดที่มีความต้องการบริโภคสินค้าภายในประเทศ ผู้บริโภคหันมาใส่ใจผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและความปลอดภัยมากขึ้น สินค้าสิ่งทอไทยก็เป็นหนึ่งในโอกาสที่สามารถพัฒนาและเติบโตในสถานการณ์นี้ได้เช่นกัน

สำหรับกิจกรรมในปี 2564 กสอ. ได้เดินหน้าให้คำปรึกษาแนะนำอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง พร้อมติดตามทบทวนข้อกำหนดต่าง ๆ ของ Thailand Textiles Tag ที่ได้ดำเนินการแล้วในปีที่ 63 เพื่อพิจารณาข้อเด่นข้อด้อยและนำมาสู่การพัฒนาปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้มีประสิทธิภาพ พร้อมเน้นสร้างการรับรู้ และประชาสัมพันธ์เพื่อให้ผู้บริโภค เข้าใจเข้าถึงและสร้างความเชื่อมั่น ฉลากคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทยมากขึ้น รวมทั้ง จัดทำเว็บไซต์ www.thailandtextilestag.com สร้างระบบลงทะเบียนขอเครื่องหมาย Thailand Textiles Tag ผ่านออนไลน์ พร้อม เร่งสร้างโอกาสทางการค้าใหม่ ๆ ตลาดในประเทศ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ตลาดต่างประเทศ นำไปสู่การฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสิ่งทอภายในประเทศไทยทั้งระบบให้ขับเคลื่อนและแข่งขันได้ ผลปรากฎว่า ตลาดสหรัฐอเมริกา เป็นตลาดใหญ่และเป็นตลาดหลัก มีการนำเข้าสินค้าสิ่งทอไทยจำนวนมาก  และยอมรับในคุณภาพสิ่งทอไทย

นอกจากนี้ล่าสุด เรายังได้รับความร่วมมือในฐานะพันธมิตรการพัฒนานวัตกรรมสิ่งทอ กับประเทศไต้หวันอีกด้วยโดยสรุปการดำเนินงานปี 2563 - 2564 ฉลากคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทย สามารถสร้างแรงจูงใจ ให้ผู้ผลิตสินค้าสิ่งทอไทยและสินค้าไลฟ์สไตล์ที่มีสิ่งทอเป็นองค์ประกอบ ได้เร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ และเล็งเห็นถึงโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งยังช่วยกระตุ้นยอดขายได้ดี เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นและเห็นถึงความแตกต่างของลักษณะคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าประเภทเดียวกันได้ชัดเจนมากขึ้น 

โดยในปี 2564 มีผู้ประกอบการสนใจยื่นขอการรับรองเครื่องหมาย Thailand Textiles Tag จนได้การรับรองตามหลักเกณฑ์เครื่องหมาย Thailand Textiles Tag รวมทั้งสิ้น 34 กิจการ 66 ผลิตภัณฑ์ แบ่งออกเป็นผู้ประกอบการที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 25 กิจการ 45 ผลิตภัณฑ์ และผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการภาครัฐกับหน่วยงานอื่น แต่สนใจยื่นขอการรับรองเครื่องหมาย Thailand Textiles Tag จำนวน 9 กิจการ 21 ผลิตภัณฑ์ เมื่อบวกกับยอดเดิมจากผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองเมื่อปี 2563 อีกจำนวน 44 กิจการ 84 ผลิตภัณฑ์ ทำให้ยอดรวมการดำเนินงานทั้งหมด 2 ปีที่ผ่านมา สรุปแล้วมีผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรองเครื่องหมาย Thailand Textiles Tag ทั้งสิ้น 78 กิจการ 150 ผลิตภัณฑ์ โดยภาพรวมคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมสิ่งทอได้ไม่น้อยกว่า 20% ในปี 2564

สำหรับภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยว่า ในเดือนพฤษภาคม 2564 พบว่า การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 514.3 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 83.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวของปีก่อน ในขณะที่ภาพรวมการนำเข้า มีมูลค่า 418.7 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ส่งผลให้ภาพรวมดุลการค้าเกินดุล คิดเป็นมูลค่า 95.6 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ 

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ