ปลดล็อคเพื่อผู้บริโภค !! “คปภ.” - “สมาคมประกันวินาศภัยไทย” - “กองทุนประกันวินาศภัย” ผนึกกำลัง ประกาศช่วยผู้เอาประกันภัยที่ได้รับผลกระทบ กรณี บมจ.สินมั่นคงประกันภัย ถูกเพิกถอนใบอนุญาตจนถูกปิดกิจการ

วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

ปลดล็อคเพื่อผู้บริโภค !!  “คปภ.” - “สมาคมประกันวินาศภัยไทย” - “กองทุนประกันวินาศภัย” ผนึกกำลัง ประกาศช่วยผู้เอาประกันภัยที่ได้รับผลกระทบ กรณี บมจ.สินมั่นคงประกันภัย ถูกเพิกถอนใบอนุญาตจนถูกปิดกิจการ


จากกรณีบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย โดยมีผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) สมาคมประกันวินาศภัยไทย กองทุนประกันวินาศภัย ออกมาชี้แจงการดำเนินการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนในกรณีดังกล่าว

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) กล่าวว่า  ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มีคำสั่งที่ 1364/2567 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 และคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คณะกรรมการ คปภ.) มีคำสั่งที่ 19/2567 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 แต่งตั้งกองทุนประกันวินาศภัยเป็นผู้ชำระบัญชี บริษัท สินมั่นคงประกันภัยจำกัด (มหาชน) ดังนั้น สำนักงาน คปภ. สมาคมประกันวินาศภัยไทย และกองทุนประกันวินาศภัย จึงร่วมกันกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อรองรับไม่ให้ประชาชนผู้เอาประกันภัยได้รับผลกระทบจากการที่บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย โดยข้อมูล ณ วันที่ 9 กรกฎาคม 2567 บริษัท สินมั่นคงฯ มีสินทรัพย์รวม 4,785.08 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 38,056.34 ล้านบาท โดยมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน 33,271.26 ล้านบาท บริษัทมีสินทรัพย์สภาพคล่องหลังหักภาระผูกพันคงเหลือจำนวน 2,228.28 ล้านบาท มีสินไหมทดแทนค้างจ่าย 484,204 เคลม วงเงิน 32,184.83 ล้านบาท แบ่งเป็นสินไหมทดแทนประกันภัยโควิด 19 จำนวน 356,661 เคลม วงเงิน 30,124.47 ล้านบาท และสินไหมทดแทนค้างจ่ายอื่น (Non-Covid 19) จำนวน 127,543 เคลม วงเงิน 2,060.36 ล้านบาท โดยมีกรมธรรม์ที่มีผลบังคับ 789,477 กรมธรรม์ แบ่งเป็นกรมธรรม์ประกันภัยประเภทรถ (Motor) จำนวน 366,458 กรมธรรม์ และกรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่น (Non-Motor) จำนวน 423,019 กรมธรรม์

ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้กำหนดมาตรการเพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้เอาประกันภัยไว้โดยได้เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่สายด่วน คปภ. 1186 อีกทั้งมีการเพิ่มช่องทางพิเศษให้ประชาชนกดหมายเลข 8 เพื่อเข้าปรึกษากรณีบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จากัด (มหาชน) โดยเฉพาะ รวมทั้งจัดทำระบบเสียงอัตโนมัติในส่วนของคำถามที่ประชาชนสอบถามเข้ามาบ่อย ๆ เช่น เอกสารที่ต้องใช้ในการขอรับค่าสินไหมทดแทน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน และได้เพิ่มช่องทางการสื่อสารกับประชาชนผ่าน Application LINE คปภ. รอบรู้ โดยจะมีการตอบคำถามในรูปแบบของ Infographic หรือ ประชาชนประสงค์จะสอบถามข้อมูลโดยตรงจากเจ้าหน้าที่ก็สามารถทำได้เช่นกัน นอกจากนี้ มีการจัดทำข้อมูลเพื่อสื่อสารประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับประชาชน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ตลอดจนมีการจัดตั้งศูนย์ให้คำแนะนำและอำนวยความสะดวกในการคีย์ข้อมูลขอรับชำระหนี้ผ่านสำนักงาน คปภ. ภาค สำนักงาน คปภ. จังหวัด ทั่วประเทศ สำหรับการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นปัญหาฐานะการเงินและการจัดการภายในของบริษัทจึงจะไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินหรือสภาพคล่องของบริษัทประกันวินาศภัยอื่น หรือธุรกิจประกันภัยในภาพรวมแต่อย่างใด

ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือของสมาคมประกันวินาศภัยไทยว่า  จากกรณีเลขาธิการ คปภ. ได้กล่าวจากกรณีดังกล่าวข้างต้น สมาคมประกันวินาศภัยไทย จึงได้ประสานความร่วมมือกับบริษัทสมาชิกของสมาคมฯ เข้าร่วมใน “โครงการบรรเทาผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัยที่มีสัญญาประกันภัยกับบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน)” เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยให้ได้รับความคุ้มครองจากกรมธรรม์ประกันภัยอย่างต่อเนื่อง และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับธุรกิจประกันวินาศภัยอีกทางหนึ่งด้วย โดยการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัย กรณีเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ผู้เอาประกันภัยสามารถเลือกดำเนินการได้ 2 กรณี ดังนี้

กรณีที่ 1 ผู้เอาประกันภัยติดต่อซื้อประกันภัยกับบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการ (กรมธรรม์ประกันภัยของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) สิ้นสุด ณ วันที่ซื้อกรมธรรม์ประกันภัยใหม่)

ผู้เอาประกันภัยสามารถนำค่าเบี้ยประกันภัยที่มีสิทธิได้รับคืนตามระยะเวลาที่เหลืออยู่มาใช้แทนเงินสดในการซื้อกรมธรรม์ประกันภัยใหม่ กับบริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือผู้เอาประกันภัย ซึ่งจะช่วยให้ผู้เอาประกันภัยจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยเพียงบางส่วน ตามระยะเวลาความคุ้มครองที่เพิ่มเติมขึ้นมา โดยบริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการจะทำหน้าที่รับภาระในการไปเรียกร้องค่าเบี้ยประกันภัยคืนจากกองทุนประกันวินาศภัยเอง

ทั้งนี้ ผู้เอาประกันภัยที่มีกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ และกรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่น ๆ ที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่ สามารถดำเนินการติดต่อทำประกันภัยฉบับใหม่ ได้ที่บริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการ ดังนี้

1. ผู้เอาประกันภัยติดต่อขอซื้อกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใหม่ กับบริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยวันเริ่มต้นความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใหม่ ให้ถือว่าเป็นวันสิ้นสุดของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดิม (ระยะเวลาความคุ้มครอง 1 ปี)

2. บริษัทประกันวินาศภัยจะคำนวณเบี้ยประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใหม่ที่มีระยะเวลาความคุ้มครอง 1 ปี และจะคำนวณเบี้ยประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดิมในส่วนที่มีสิทธิได้รับคืนตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ (เบี้ยประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดิมที่นำมาคำนวณเป็นเบี้ยประกันภัยสุทธิ ไม่รวมภาษีและอากร) เช่น ต้องการชื้อประกันภัยรถยนต์กับบริษัทที่เข้าร่วมโครงการเบี้ยประกันภัยฉบับใหม่ 10,000 บาท หากคำนวณเบี้ยประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดิมตามระยะเวลาที่มีเบี้ยประกันภัยคงเหลือ 4,000 บาท ดังนั้น ผู้เอาประกันภัยจะต้องชำระเบี้ยประกันภัยให้กับบริษัทที่เข้าร่วมโครงการเพื่อซื้อกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใหม่ 6,000 บาท

3. ผู้เอาประกันภัย โอนสิทธิเรียกร้องค่าเบี้ยประกันภัยที่มีสิทธิได้รับคืนจากกองทุนประกันวินาศภัย (ตามระยะเวลาที่เหลืออยู่) ให้บริษัทประกันวินาศภัยที่รับประกันภัยใหม่

4. บริษัทประกันวินาศภัยเรียกเก็บค่าเบี้ยประกันภัยจากผู้เอาประกันภัย หักด้วยเบี้ยประกันภัยที่มีสิทธิได้รับคืน

5. บริษัทประกันวินาศภัยรับภาระการไปเรียกเงินค่าเบี้ยประกันภัยคืนจาก กองทุนประกันวินาศภัย แทนผู้เอาประกันภัย

กรณีที่ 2 ผู้เอาประกันภัยขอคืนเบี้ยประกันภัยตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ได้ที่ กองทุนประกันวินาศภัย หรือสำนักงาน คปภ. ส่วนกลาง และจังหวัดทั่วประเทศ

ในกรณีที่ผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัท สินมั่นคงประกันภัยฯ ไม่ประสงค์จะซื้อกรมธรรม์ประกันภัยใด ๆ ผู้เอาประกันภัยสามารถติดต่อไปที่ “กองทุนประกันวินาศภัย” เพื่อยื่นขอรับชำระหนี้ได้ ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2567 ถึง วันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 ตามช่องทางที่กองทุนประกันวินาศภัยประกาศกำหนด โดยกองทุนประกันวินาศภัยจะคืนเบี้ยประกันภัยให้ตามส่วนระยะเวลาความคุ้มครองที่เหลืออยู่ (เบี้ยเฉลี่ยรายวัน ตามความคุ้มครองที่เหลืออยู่) กองทุนประกันวินาศภัย จะดำเนินการส่งหนังสือทางไปรษณีย์ลงทะเบียนแจ้งบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยทุกฉบับไปยังผู้เอาประกันภัย โดยกรมธรรม์ประกันภัยทุกฉบับจะสิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 8 กันยายน 2567

สำหรับบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือมีจำนวน 9 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท กรุงไทยพานิชประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) บริษัท มิตรแท้ประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เออร์โกประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

ปิดท้าย นายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย กล่าวว่า ภายหลังจากมีการแต่งตั้งกองทุนประกันวินาศภัย เป็นผู้ชำระบัญชี บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตามคำสั่งที่ 19/2567 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 ทางกองทุนฯ ได้ดำเนินการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการและจดทะเบียนเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัทสินมั่นคงฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยภายใน 30 วัน นับแต่แต่งตั้งเป็นผู้ชำระบัญชี กองทุนฯ จะได้มีการประกาศลงในหนังสือพิมพ์ 3 ฉบับ ติดต่อกัน 3 วัน และส่งไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงบรรดาเจ้าหนี้เพื่อแจ้งบอกเลิกกรมธรรม์และแจ้งให้เจ้าหนี้ยื่นคำทวงหนี้ โดยจะบอกเลิกกรมธรรม์และสิ้นสุดความคุ้มครอง ภายในวันที่ 8 กันยายน 2567 และจะเปิดให้ยื่นคำทวงหนี้ผ่านระบบ Online ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน-วันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 รวมระยะเวลายื่นคำทวงหนี้ 60 วัน

 

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ