กระทรวงคมนาคมเดินหน้าศึกษามาตรการเก็บค่าธรรมเนียมการจราจรติดขัด หรือ “Congestion Charge” ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อลดปัญหารถติดและส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ โดยสนข. เร่งศึกษาอย่างละเอียดเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมกับบริบทประเทศไทย โดยมีโมเดลตัวอย่างจาก 4 ประเทศ คือ อังกฤษ สิงคโปร์ สวีเดน และอิตาลี ซึ่งมีระบบการเก็บค่าธรรมเนียมในพื้นที่เมืองหลวงสำคัญที่ช่วยลดการจราจรติดขัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม และโฆษกกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การศึกษามาตรการดังกล่าวเกิดขึ้นจากคำสั่งของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยสนข. ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการศึกษาแนวทางการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge) ที่อาจนำมาใช้ในพื้นที่เมืองหลวงที่มีการจราจรหนาแน่น ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด เช่น อัตราค่าธรรมเนียม วิธีการจัดเก็บ ตลอดจนผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย
ในรายงานเบื้องต้น สนข. ได้พิจารณารูปแบบที่ประสบความสำเร็จใน 4 ประเทศ ได้แก่:
1. ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ใช้ระบบ ANPR เพื่อตรวจจับและเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากยานพาหนะที่เข้าสู่พื้นที่ใจกลางเมืองในช่วงเวลาที่กำหนด โดยมาตรการนี้ช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดได้ 16% และเพิ่มการใช้ขนส่งสาธารณะขึ้น 18%
2. สิงคโปร์ ใช้ระบบ RFID เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในพื้นที่ศูนย์กลางเมืองและทางด่วน มาตรการนี้ช่วยลดการจราจรติดขัดได้ถึง 15%
3. สต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน จัดเก็บค่าธรรมเนียมในพื้นที่ศูนย์กลางเมืองและถนนทางหลวงพิเศษ ผลการศึกษาพบว่าการจราจรติดขัดลดลง 20% และมีการใช้ขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น 5%
4. มิลาน ประเทศอิตาลี ใช้กล้องตรวจจับการรับรู้ป้ายทะเบียนอัตโนมัติเพื่อจัดเก็บค่าธรรมเนียมในพื้นที่ใจกลางเมือง ผลลัพธ์ช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดได้ถึง 34%
สนข. ยังได้ระบุว่าหลังการเริ่มใช้มาตรการ Congestion Charge ในแต่ละประเทศ แม้จะมีเสียงวิจารณ์ในช่วงแรก แต่ภายหลังประชาชนกลับให้การยอมรับมากขึ้น เช่น ในสต็อกโฮล์ม การยอมรับเพิ่มขึ้นจาก 21% เป็น 67% และในลอนดอนเพิ่มจาก 39% เป็น 54%
นำรายได้สนับสนุน “ค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย” ลดค่าครองชีพ-แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5
หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของมาตรการ Congestion Charge คือการนำรายได้มาสนับสนุนนโยบาย “ค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย” เพื่อช่วยลดค่าครองชีพและกระตุ้นให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดมลพิษทางอากาศ รวมถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นภัยต่อสุขภาพประชาชน
สำหรับแผนการดำเนินการศึกษา Congestion Charge ในปี 2567 สนข. ยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหราชอาณาจักร ผ่านโครงการ UK PACT เพื่อพัฒนาและกำหนดแนวทางสำหรับมาตรการนี้ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปและแนวทางการดำเนินงานภายในปี 2568