รฟท. หารือ กมธ.คมนาคม วุฒิสภา “วีริศ” เผย เร่งขับเคลื่อนภารกิจในทุกมิติ เพื่อก้าวสู่ศูนย์กลางด้านคมนาคมของภูมิภาค

วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

รฟท. หารือ กมธ.คมนาคม วุฒิสภา “วีริศ” เผย เร่งขับเคลื่อนภารกิจในทุกมิติ เพื่อก้าวสู่ศูนย์กลางด้านคมนาคมของภูมิภาค


รฟท. หารือ กมธ.คมนาคม วุฒิสภา “วีริศ” เผย เร่งขับเคลื่อนภารกิจในทุกมิติ เพื่อก้าวสู่ศูนย์กลางด้านคมนาคมของภูมิภาค ควบคู่กับการสร้างรายได้และความยั่งยืนให้การรถไฟฯ
 
เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 ณ ห้องประชุมปฏิบัติการ ชั้น 3 ตึกบัญชาการ การรถไฟแห่งประเทศไทย เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา พร้อมด้วยคณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา เดินทางมาเยี่ยมเยือนการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับผลการดำเนินงานในปี 2567 แนวทางการดำเนินงานของการรถไฟฯ ในปีงบประมาณ 2568 และความคืบหน้าการดำเนินโครงการสำคัญที่อยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟฯ โดยนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้การต้อนรับ
 
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การประชุมร่วมกันในครั้งนี้ ได้พิจารณาแนวทางการพัฒนาการดำเนินงานในทุกมิติ ทั้งในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า รวมถึงการยกระดับระบบรางของไทยให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้บริการ มุ่งเน้นการสร้างรายได้และความยั่งยืนให้แก่การรถไฟฯ ซึ่งสอดรับกับพันธกิจสำหรับการฟื้นฟูของการรถไฟฯ ที่ต้องการสร้างรายได้และการเติบโตทางเศรษฐกิจ พัฒนาระบบการขนส่งให้มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการขนส่งของประเทศ ผ่านโครงข่ายคมนาคมที่ครอบคลุม เข้าถึงได้ และราคาที่เป็นธรรม
 
ปัจจุบัน การรถไฟฯ ให้บริการขบวนรถโดยสารแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ขบวนรถโดยสารเชิงสังคม จำนวน 146 ขบวน/วัน และเชิงพาณิชย์ จำนวน 74 ขบวน/วัน รวมทั้งสิ้น 220 ขบวน/วัน ซึ่งมีปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร ในปี 2567 ประมาณ 30,870,000 คน นับเป็นรายได้กว่า 3,921.30 ล้านบาท นอกจากนี้ ปัจจุบันการรถไฟฯ สามารถให้บริการขนส่งสินค้า จำนวน 62 ขบวน/วัน โดยในปี 2567 มีปริมาณการขนส่งเพิ่มขึ้นจากเดิม 12,8000,000 ตัน นับเป็นรายได้กว่า 2,122.60 ล้านบาท
 
สำหรับการดำเนินโครงการสำคัญที่อยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟฯ นั้น ด้านโครงสร้างพื้นฐาน การรถไฟฯ เร่งรัดดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้แล้วเสร็จตามแผนงาน ปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน จำนวน 7 เส้นทาง ที่เปิดให้บริการไปแล้ว 5 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.ช่วงชุมทางฉะเชิงเทรา–คลองสิบเก้า-แก่งคอย 2.ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น 3.ช่วงนครปฐม-หัวหิน 4.ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ และ 5.ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ส่วนอีก 2 เส้นทาง ได้แก่ 1.ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ เตรียมเปิดให้บริการช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 เพื่อมอบเป็นของขวัญให้แก่พี่น้องประชาชน และ 2.ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ขณะนี้ดำเนินการใกล้แล้วเสร็จ คาดว่าจะสามารถเปิดใช้งานได้ในช่วงต้นปี 2568
 
ส่วนโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ 2 เส้นทาง ได้แก่ 1. เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และ 2. บ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม รวมระยะทาง 677 กม. ปัจจุบัน อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างโครงการ รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย) รวมระยะทาง 609 กม. ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างเร่งรัดก่อสร้าง ระยะที่ 1 (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) ระยะทาง 250.77 กม. คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2571 

ขณะที่ ด้านรถจักรและล้อเลื่อน การรถไฟฯ เร่งผลักดันโครงการจัดซื้อรถจักรดีเซลไฟฟ้าพร้อมอะไหล่ จำนวน 113 คัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการขนส่งสินค้า และรองรับโครงการรถไฟทางคู่ที่จะทยอยเปิดใช้งานในอนาคต สามารถประหยัดพลังงานได้ประมาณ 10 - 30 % รวมถึงการจัดหารถจักรสับเปลี่ยนที่ใช้แบตเตอรี่ จำนวน 17 คัน ทดแทนรถจักรสับเปลี่ยนเดิมที่มีสภาพการใช้งานกว่า 60 ปี รวมทั้งการจัดหารถดีเซลราง (Hybrid DEMU) จำนวน 184 คัน เพื่อเพิ่มปริมาณการขนส่งเชิงพาณิชย์ รองรับทางคู่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อชี้แจง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง เพื่อเสนอต่อกระทรวงคมนาคมต่อไป

ที่ผ่านมา การรถไฟฯ ยังมีรายได้จากการให้เช่าที่กว่า 3,987.19 ล้านบาท แต่ในอนาคตหลังจากโอนที่ทั้งหมดให้กับบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการรถไฟฯ แล้ว เชื่อว่าจะสามารถพัฒนาและสร้างรายได้ให้กับการรถไฟฯ เพิ่มขึ้นอีก ส่วนบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ที่ให้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดง 2 เส้นทาง ได้แก่ สายเหนือ ระหว่างสถานีบางซื่อ–สถานีรังสิต จำนวน 10 สถานี และสายใต้ ระหว่าง สถานีบางซื่อ–สถานีตลิ่งชัน จำนวน 3 สถานี ปัจจุบัน จากนโยบายอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท ทำให้มีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดยในช่วงปี 2567 มีปริมาณผู้โดยสารกว่า 10,602,478 คนต่อปี
 
“การรถไฟฯ จะนำข้อเสนอแนะจากการหารือครั้งนี้ ไปขับเคลื่อนภารกิจต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในทุกมิติ ทั้งภาคการขนส่งผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้า เพราะระบบรางเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ ที่เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังใหญ่ของภาคเศรษฐกิจ การรถไฟฯ พร้อมก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมของภูมิภาค สอดรับกับนโยบาย “คมนาคมเพื่อโอกาสประเทศไทย” ที่มุ่งสร้างโอกาสและความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจและสังคมไทยในอนาคต” ผู้ว่าการรถไฟฯ กล่าว



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ