กรุงเทพธนาคม เตรียมพร้อมขออนุญาตกลับมาเปิดโรงงานกำจัดมูลฝอยชุมชน เพื่อผลิตพลังงานขนาด 800 ตันต่อวัน เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า หลังถูก กรอ.สั่งหยุดดำเนินการชั่วคราว เพื่อปรับปรุงการจัดการ “กลิ่นขยะ” บริษัทยืนยันความตั้งใจไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน โดยเน้นการมีส่วนร่วมของหมู่บ้านและชุมชน พร้อมซีลโรงงานเป็นระบบปิด เพิ่มระบบบำบัดกลิ่น ติดตั้งเครื่องวัดกลิ่นทั้งในและนอกโรงงาน พร้อมติดกล้อง CCTV ให้ตรวจสอบได้ 24 ชม. ระบุ ตั้งเป้าหมายให้เป็นโรงงานต้นแบบระบบบำบัดกลิ่นของ กทม. คืนคุณภาพชีวิตที่ดีให้ชุมชน
นายธรัฐพร เตชะกิจขจร กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) กล่าวว่า โรงงานกำจัดมูลฝอยชุมชน เพื่อผลิตพลังงาน ขนาด 800 ตันต่อวัน เป็นความประสงค์ของกรุงเทพมหานคร ที่มีนโยบายที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการขยะมูลฝอย และลดพื้นที่ฝังกลบ โดยกรุงเทพมหานคร ได้ลงนามสัญญาว่าจ้างให้บริษัทเป็นผู้ดำเนินงาน
โดยได้เริ่มก่อสร้างโรงงานเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2561 จนกระทั่งได้รับใบอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรุงเทพมหานคร ได้อนุญาตให้เริ่มเดินระบบในวันที่ 2 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นโครงการต้นแบบและนำร่องการบริหารจัดการมูลฝอยชุมชนแบบบูรณาการ ด้วยเทคโนโลยีเชิงกล-ชีวภาพ (MBT) โดยมีแผนกำจัดขยะจำนวน 800 ตัน ผลิตพลังงานไฟฟ้า 4 เมกะวัตต์ ผลิตขยะเชื้อเพลิง 542 ตัน และขยะรีไซเคิล ซึ่งจะส่งผลให้เหลือกากของเสียที่ต้องนำไปกำจัดน้อยที่สุด
นายธรัฐพร กล่าวต่อ ในอดีตที่ผ่านมา ได้เกิดปัญหาประสิทธิภาพในการผลิต อีกทั้งยังเกิดผลกระทบด้านกลิ่นและเสียงต่อชุมชน กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จึงมีคำสั่งให้หยุดดำเนินกิจการ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 เพื่อทำการปรับปรุงแก้ไข ตามที่ กรอ. กำหนดเพื่อแก้ไขปัญหารบกวนชุมชน
ทีมบริหารปัจจุบันไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหา ด้วยการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างสูงสุด โดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อหมู่บ้านและชุมชน ทั้งทางด้านกลิ่นและเสียง โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งตัวแทนหมู่บ้านและชุมชนรอบโรงงาน กรุงเทพมหานคร กรมโรงงานอุตสาหกรรม คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และกรมอนามัย ได้เข้ามาร่วมกันให้คำแนะนำและแนวทางแก้ไขปัญหา
สำหรับการปรับปรุงแก้ไข ขณะนี้บริษัทได้ดำเนินการในส่วนสำคัญแล้วดังนี้
1. ทำโรงงานให้เป็นระบบปิด ด้วยการซีลโรงงานทั้งหมด ทำโรงงานให้เป็นระบบ Negative Pressure เพื่อไม่ให้กลิ่นฟุ้งกระจายออกมาภายนอก
2. ภายในโรงงานได้เพิ่มปริมาณการดูดอากาศ จาก 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง เป็น 167,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง เพื่อบำบัดกลิ่นให้สะอาดก่อนปล่อยออกสู่ภายนอกโรงงาน
3. ติดตั้งประตู High Speed Shutter Door ซึ่งเป็นระบบเปิด-ปิด อัตโนมัติ บริเวณทางเข้าอาคารรับมูลฝอยและอาคารขนถ่ายมูลฝอยเชื้อเพลิง (RDF) ควบคุมการเปิดปิดประตูเท่าที่จำเป็น ป้องกันกลิ่นไม่พึงประสงค์ออกมาภายนอก หรือออกมาให้น้อยที่สุด พร้อมทั้งติดตั้งกล้องวงจรปิดรอบโรงงานจำนวน 8 ตัว เพื่อคอยตรวจสอบ และให้ชุมชนสามารถเข้ามาตรวจสอบได้
4. การบริหารจัดการเพื่อลดกลิ่น เช่น การกำจัดขยะให้หมดวันต่อวัน, การล้างพื้นอาคารรับขยะทุกวัน, การปิดคลุมรถขนส่งมูลฝอย การพ่นน้ำยาควบคุมกลิ่นภายในโรงงาน, เป็นต้น
5. ติดตั้งเครื่องตรวจวัดกลิ่น ด้วยเครื่อง E-Nose ทั้งในศูนย์ขยะอ่อนนุชและหมู่บ้าน จัดหาเครื่องตรวจวัดกลิ่นแบบพกพาที่ได้มาตรฐาน เพื่อลงพื้นที่ตรวจวัดปริมาณกลิ่นทั้งภายในและภายนอกโรงงาน ในชุมชนรอบโครงการ พร้อมทั้งลงพื้นที่สำรวจหมู่บ้านและชุมชน
นายธรัฐพร กล่าวต่อ ภายหลังจากที่บริษัทได้ดำเนินการปรับปรุงโรงงานอย่างเต็มที่ ขณะนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้อนุญาตให้เริ่มมีการทดสอบเดินระบบต่างๆแล้ว และจากผลการผลดำเนินการ บริษัทมีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า สามารถดำเนินกิจกรรมของโรงงานได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อหมู่บ้านและชุมชน ซึ่งบริษัทมีความตั้งใจที่จะทำให้ปัญหากลิ่นไม่พึงประสงค์ให้หมดไปและจะยึดเป็นแนวทางปฏิบัติ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้โรงงานอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน
สุดท้ายนี้ บริษัทมีความคาดหวังว่า จะขออนุญาตกลับมาเปิดโรงงานในเชิงพานิชย์ ได้ภายในเดือนมีนาคมนี้ และจะเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการโรงงานกำจัดมูลฝอยของศูนย์อ่อนนุชต่อไป จากนั้นจึงจะเร่งดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้เป็นไปตามแผน
ทั้งนี้ บริษัทต้องขอขอบคุณ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมอนามัย คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ตลอดจนชุมชนและหมู่บ้านรอบโครงการ ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อสังคมและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น