เอสซีจี เผยผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2568 ดีขึ้นกว่าไตรมาส 4 ปี 2567 กระแสเงินสด (EBITDA) แข็งแกร่งต่อเนื่อง 12,889 ล้านบาท กำไร 1,099 ล้านบาท จากการเร่งปรับตัวสู้ความท้าทายในทุกธุรกิจ และมาตรการเสริมความเข้มแข็งการเงินต่อเนื่อง พร้อมยกระดับ “4 กลยุทธ์” สู้ศึกสงครามการค้าโลกรุนแรงยืดเยื้อ 1.) ลดต้นทุน แข่งขันกับผู้ผลิตระดับโลก 2.) ขยายพอร์ตสินค้าให้รองรับความต้องการตลาดทุกระดับ ทั้ง “สินค้ามูลค่าเพิ่มสูง สินค้ากรีน และสินค้าคุณภาพ ราคาจับต้องได้” 3.) บุกตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูง 4.) สร้างความได้เปรียบโดยส่งออกจากฐานการผลิตที่หลากหลายในภูมิภาคอาเซียน มั่นใจธุรกิจมีเสถียรภาพเติบโตได้ท่ามกลางความท้าทาย
นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า “ไตรมาส 1 ปี 2568 เอสซีจี มีกำไรสำหรับงวด 1,099 ล้านบาท เนื่องจากทุกธุรกิจปรับตัวดีขึ้น ตามมาตรการเสริมความเข้มแข็งทางการเงินที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เร่งยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน ด้วยการลดต้นทุนการผลิตและการบริหารจัดการ รวมทั้งการขยายตลาดใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับซีเมนต์และการก่อสร้าง มีความต้องการเพิ่มขึ้นตามฤดูกาลก่อสร้างและงบประมาณภาครัฐที่เบิกจ่ายต่อเนื่อง ขณะที่เอสซีจี เคมิคอลส์ (เอสซีจีซี) ปรับตัวดีขึ้นจากการบริหารต้นทุนและปรับพอร์ตสินค้า รวมถึงเอสซีจีพี ที่ยังคงแข็งแกร่งจากการมุ่งเน้นการเติบโตเพื่อรองรับอุปสงค์ของผู้บริโภคภายในประเทศของกลุ่มอาเซียน เสริมพอร์ตสินค้าสำหรับผู้บริโภค (Consumer Packaging) ควบคู่กับการบริหารต้นทุน
ขณะเดียวกัน เอสซีจี ได้ดำเนินมาตรการเสริมความเข้มแข็งทางการเงินอย่างต่อเนื่อง ทั้งการบริหารจัดการกระแสเงินสด ต้นทุน และเงินทุนหมุนเวียนอย่างระมัดระวัง ส่งผลให้ไตรมาส 1 ปี 2568 เอสซีจี มีกระแสเงินสด (EBITDA) 12,889 ล้านบาท สะท้อนการปรับตัวฉับไวของธุรกิจเพื่อคงศักยภาพการแข่งขันท่ามกลางความท้าทายสำหรับ สถานการณ์สงครามการค้าโลกจากการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ที่รุนแรง ล่าสุด “กองทุนการเงินระหว่างประเทศ” (IMF) ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตเศรษฐกิจโลกปีนี้เหลือเพียง 2.8% ปัจจัยสำคัญมาจากการลดประมาณการ GDP ลงเกือบทุกประเทศ สำหรับ GDP ประเทศไทย ปรับลดลงเหลือ 1.8%
เอสซีจี ได้ประเมินสถานการณ์และผลกระทบจากสงครามการค้าโลก พบว่า 1.) ผลกระทบทางตรงต่อเอสซีจี มีเล็กน้อย เนื่องจากในปี 2567 มีการส่งออกไปสหรัฐฯ เพียง 1% จากยอดขายรวมของเอสซีจี 2.) ผลกระทบทางอ้อม หากพ้นระยะที่สหรัฐฯ ประกาศชะลอการจัดเก็บภาษีนำเข้า 90 วัน กลุ่มประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อาจถูกเก็บอัตราภาษีที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะในประเทศไทยที่อาจถูกเก็บอัตราภาษีนำเข้าสูงถึง 36% ตามที่สหรัฐฯ ประกาศเมื่อ 2 เมษายน 2568 จึงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจทั้งในระดับภูมิภาคและโลกจะชะลอตัวรุนแรง การส่งออกระหว่างประเทศ รวมถึงการทะลักของสินค้าจากประเทศอื่นเข้ามาในประเทศไทย จะส่งผลให้
การแข่งขันรุนแรงยิ่งขึ้น”
นายธรรมศักดิ์ กล่าวว่า “สงครามการค้าได้สร้างแรงกดดันทั่วโลก แต่ยังมีโอกาสที่ซ่อนอยู่ เช่น แนวโน้มราคาน้ำมันโลกที่ลดลง ผู้ผลิตปิโตรเคมีในจีนประสบปัญหาการจัดหาวัตถุดิบจากสหรัฐฯ ตลอดจนบางตลาดยังมีกำลังซื้อสูงสำหรับสินค้ามูลค่าเพิ่มสูง (High-Value Added Products - HVA Products) สินค้ากรีน (Green Products) และสินค้าคุณภาพ ราคาจับต้องได้ (Quality Affordable Products) เอสซีจี จึงยกระดับการปรับตัวให้เข้มข้นรับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ด้วย 4 กลยุทธ์สำคัญ ได้แก่ 1.) ลดต้นทุน แข่งขันกับผู้ผลิตระดับโลก 2.) ขยายพอร์ตสินค้าให้รองรับความต้องการตลาดทุกระดับ ทั้ง “สินค้ามูลค่าเพิ่มสูง สินค้ากรีน และสินค้าคุณภาพ ราคาจับต้องได้” 3.) บุกตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูง และ 4.) สร้างความได้เปรียบโดยส่งออกจากฐานการผลิตที่หลากหลายในภูมิภาคอาเซียน ประกอบกับมาตรการเสริมความเข้มแข็งทางการเงินที่ทำต่อเนื่องอย่างได้ผล ทำให้มั่นใจได้ว่าธุรกิจจะสามารถฝ่าความท้าทายจากสงครามการค้าโลกได้อย่างทันท่วงที” 4 กลยุทธ์รับมือสงครามการค้าโลก ของทุกธุรกิจในเอสซีจี
1.) ลดต้นทุน แข่งขันกับผู้ผลิตระดับโลก เพื่อรับมือสินค้าราคาถูกจากประเทศอื่นที่อาจเข้ามาแข่งขัน ด้วยวิธีการดังนี้
2.) ขยายพอร์ตสินค้าให้รองรับความต้องการตลาดทุกระดับ
3.) บุกตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูง โดยขยายการส่งออกสินค้า เช่น ปูนเอสซีจีคาร์บอนต่ำ กระเบื้องคอนกรีต
สมาร์ทบอร์ด กระดาษบรรจุภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์อาหาร ไปยังตลาดใหม่ที่มีศักยภาพและความต้องการ เช่น
ประเทศที่ปรับตัวและได้ประโยชน์จากสงครามการค้า โดยใช้เครือข่ายของธุรกิจต่าง ๆ ของเอสซีจีที่มีอยู่ทั่วโลก
4.) สร้างความได้เปรียบโดยส่งออกจากฐานการผลิตที่หลากหลายในภูมิภาคอาเซียน โดยสลับฐานการผลิตและส่งออกจากประเทศที่มีอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ต่ำกว่า ฐานการผลิตที่หลากหลายซึ่งเป็นจุดแข็งของเอสซีจีจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ทันท่วงที เช่น บรรจุภัณฑ์ของเอสซีจีพี ที่มีฐานการผลิตและส่งออกได้จากทั้งไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วนปูนเอสซีจีคาร์บอนต่ำ และกระเบื้องเกรซพอร์ซเลน สามารถผลิตและส่งออกได้จากทั้งไทย และเวียดนาม
อย่างไรก็ตาม แม้สงครามการค้ายังมีความไม่แน่นอน และอุปสงค์เคมีภัณฑ์ชะลอตัว แต่ เอสซีจีซี คาดว่าจะได้รับอานิสงส์บวกจากราคาน้ำมันโลกที่มีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเคมีภัณฑ์ลดลง เอสซีจีซี จึงเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และดำเนินการเชิงรุกได้แก่ 1.) ลดต้นทุนบริหารอย่างต่อเนื่อง 2.) เพิ่มความยืดหยุ่นของ
ซัพพลายเชนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมทั้งเตรียมความพร้อมของโครงการลองเซินปิโตรเคมิคอลส์ ที่ประเทศเวียดนาม (LSP) ให้กลับมาเดินเครื่องได้เมื่อสถานการณ์เหมาะสม และ 3.) เร่งพัฒนาสินค้ามูลค่าเพิ่มสูง พร้อมขยายธุรกิจสินค้ากรีน และดิจิทัล โซลูชัน เช่น DRS by Repco NEX
นายธรรมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “เอสซีจีเล็งเห็นถึงความท้าทายที่ภาคอุตสาหกรรมกำลังเผชิญ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งเป็นหัวใจของเศรษฐกิจฐานราก และได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากสถานการณ์สงครามการค้าโลก จึงพร้อมเปิดบ้านสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ถ่ายทอดความรู้ เสริมศักยภาพ และช่วยให้ธุรกิจสามารถปรับตัวและแข่งขันได้ ผ่านโครงการ ‘Go Together’ ที่เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง และจะครบเป้าหมายเฟสแรก 1,200 คนในเดือนพฤษภาคมนี้ รวมถึงโครงการ ‘NZAP’ ที่มีผู้เข้าร่วมแล้ว 106 ราย ด้วยความร่วมมือและการสนับสนุนซึ่งกันและกันนี้ เราจะสามารถก้าวข้ามความท้าทายครั้งนี้ไปได้ด้วยกัน”